รอยแย้มพระสรวล คือ กำลังใจอันใหญ่ยิ่ง ที่จะทำให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าพร้อมดำเนินตามรอยพระบาท เพื่อนำมาซึ่งความสุขแห่งมวลมนุษยชาติ ตามหลักการกาชาด

พระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจคุณูปการแก่ประเทศชาติ และความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกพื้นที่   ทรงเป็นผู้ซึ่งเหมาะสมและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศแต่งตั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำรงตำแหน่ง อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย

ในวันเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมประชุมกรรมการสภากาชาดไทยคราวแรก หลังจากทรงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๐ ทรงมีพระราชดำรัสถึงงานของสภากาชาดตอนหนึ่งว่า

“…งานของสภากาชาดนั้นนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่สมควรจะได้รับการสงเคราะห์ซึ่งเป็นคนในประเทศแล้ว มันเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยากทั่ว ๆ ไป เป็นงานที่กระทำเพื่อมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุก ๆ คนที่จะทำงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ดังนั้นผู้ที่ได้ทำงานอยู่ในสภากาชาดไทยก็คงจะเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว และหวังว่าที่มาทำงานใหม่นี้ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับสภากาชาดมาก่อน บางข้อบางสิ่งที่อาจจะยังไม่ทราบไม่รู้ก็หวังว่าคงจะช่วยกันบอกและชี้แจงให้ทราบได้”

ฉลองพระองค์ สื่อถึงพระราชภารกิจต่อมวลมนุษยชาติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบยุวกาชาด ขณะทรงศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา ในสมัยนั้นเรียกว่า “วิชาอนุกาชาด” ทรงเรียนร่วมกับพระสหายโดยมี คณะกองอนุกาชาด กรมพลศึกษาเข้ามาถวายการสอน

วิชาอนุกาชาด (ยุวกาชาด) เรียนเกี่ยวกับการอนามัย ร่างกาย บ้านเรือน เสื้อผ้า ทั้งที่บ้านและโรงเรียน หัดเย็บปักถักร้อย ทำการฝึมือ ประพฤติปฏิบัติเป็นกุลสตรีที่สุภาพอ่อนโยน ช่วยเหลือเกื้อกูล มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น สมกับเป็นวิชาที่จะอบรมสั่งสอนเด็กในวัยนี้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะติดเป็นนิสัยปฏิบัติตนในทางที่ดีต่อไปภายหน้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของกิจการอนุกาชาด (ยุวกาชาด) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา เปิดกองอนุกาชาดขึ้นที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 โดยอนุกาชาดรุ่นแรกของโรงเรียนมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ และพระสหายอีก  33 คน

พระราชภารกิจ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข 4 ด้านหลัก

นับแต่ทรงรับเป็นองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงมุ่งมั่นพัฒนากิจการงานของสภากาชาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
ด้านการบริการโลหิต
ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต