เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) ” เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มาตั้งแต่ปี 2542
รู้หรือไม่? โดยทั่วโลกได้มีการใช้ สัญลักษณ์“ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรง”
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ให้นิยาม “ความรุนแรง” ว่าหมายถึง การกระทำโดยมีเจตนาใช้กําลังทางกายหรือใช้อำนาจข่มขู่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทํา ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อกลุ่มบุคคลหรือต่อชุมชน อันทําให้เกิดหรืออาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ถึงแก่ความตาย เป็นอันตราย ต่อจิตใจ หรือการละเลยทอดทิ้ง ซึ่งจากนิยามดังกล่าว สามารถแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการถูกทอดทิ้ง
โดยสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจในทุก ๆ วัน และเป็นที่น่าตกใจว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีสถิติผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านจิตใจ ทางร่างกาย และทางเพศมากที่สุด นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีความรุนแรงในครอบครัวอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์ ด้วยสาเหตุความหวาดกลัวต่อการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือความอับอายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้อื่นรับรู้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน ยังมีความเปราะบางต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นเด็กหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่พิการ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการทางเพศ และติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ การแสวงหาประโยชน์และกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทางออนไลน์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
สิ่งที่ทำได้ เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
- ถ้าคนใกล้ตัวกำลังถูกคุกคาม ข่มเหง ขอให้คุณ เป็นผู้ฟังที่ดีช่วยเหลือ และบอกให้เธอรู้ว่ายังมีคนที่ต้องการช่วยเหลือได้
- สอนเด็กผู้ชายและผู้หญิง ให้รู้จักการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ข่มเหงผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการที่ผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พวกเขา
- ไม่เฉยเมย ถ้าคนที่รู้จัก ไม่เคารพหรือมีพฤติกรรมคุกคาม พูดจาส่อเสียดต่อผู้หญิงหรือเด็ก
ที่มา: สำนักอัยการสูงสุด
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ