“วันสร้างสุขภาพแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชน ทุกคนตระหนักถึง ‘การสร้างสุขภาพ’ มากกว่าการ ‘ซ่อมสุขภาพ’ รวมถึงการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ปัญหาสุขภาพของประชากรโลกเป็นปัญหาทางสังคมที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง การมีสุขภาพดีจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของการดำเนินชีวิต ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปัจจัยทางสังคม ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาพ (health promotion) จึงเป็นกระบวนการในการเพิ่มความสามารถให้ประชาชน เพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยกำหนดสุขภาพและพัฒนาสุขภาพของตนเองได้ ทั้งสุขภาวะทางกาย จิต สังคมและปัญญา ซึ่งไม่ใช่ เป็นเพียงความรับผิดชอบของบุคลากรและองค์กรสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ที่จะร่วมกันสร้างวิถีชีวิตและสังคมสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่สุขภาวะที่ดี ในนิยามที่พัฒนาให้กว้างขึ้นยังรวมถึงการเชื่อมโยงถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
รู้จัก “สุขภาพ” ดี ทั้ง 4 มิติ
สุขภาพดี 4 มิติ ที่เป็นองค์ประกอบของสุขภาพ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและพึ่งพากัน โดยพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดนิยามของ “สุขภาพ” คือ ภาวะที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งทางกาย (Physical Health) ทางจิต (Mental Health) ทางสังคม (Social Health) และทางปัญญา หรือจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ที่เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล (Holistic Health) หรืออาจกล่าวโดยรวมด้วยคำว่า “สุขภาวะ”
- มิติทางกาย ร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เช่น โภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- มิติทางจิต มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ จิตใจที่ผ่องใส มีความสุขทางความคิดและอารมณ์ปราศจากความเครียด เช่น การอ่าน การไขปริศนา หรือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
- มิติปัญญา การคิดดี มีสติสัมปชัญญะ การรับรู้ความดีงามของสังคมที่ถูกต้องมีเมตตา เปี่ยมด้วยความรู้ มีเมตตา กรุณา
- มิติทางสังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี