
สู้ฝุ่น PM2.5
อากาศ ถือเป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายภาย สำหรับการดำรงค์ชีวิตของมนุษยชาติ เมื่ออากาศเต็มไปด้วยมลพิษอย่าง ฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงปลายฤดูหนาว เข้าฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน เราจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษกันแทบทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะปี 2568 นี้ สถานการณ์ดูจะทวีความรุนแรงและกินเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา คุณภาพอากาศโดยรวมจัดอยู่ในเกณฑ์ “อันตรายต่อสุขภาพขั้นรุนแรง” ทำให้สภาพอากาศของประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีสภาพอากาศที่อันตรายที่สุดในโลก
ฝุ่น PM2.5 คืออะไร
เป็นฝุ่นละอองจิ๋ว ที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เปรียบเทียบคือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมหลายเท่า ด้วยความจิ๋วของขนาดที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถเล็ดลอดการกรองของขนจมูกเข้าไปในปอดและกระแสเลือดของเราได้ ที่ร้ายที่สุดก็คือมันสามารถเป็นตัวกลางนำพาสารอันตรายอื่น ๆ ในอากาศเข้าสู่ปอดเราได้ด้วย เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เป็นต้น
วิธีการป้องกันฝุ่น PM2.5
การป้องกันฝุ่นสำหรับประชาชนที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ คือการสวมหน้ากากอนามัย N95 โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปข้างนอกหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นขนาดจิ๋วได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพ ส่วนการป้องกันในระยะยาวนั้นทำได้ เช่น
- การปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในที่พักอาศัย ให้มีการระบายอากาศและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- ติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองภายในบ้าน และควรทำความรู้จักและเข้าใจหลักการทำงาน ของอุปกรณ์เหล่านี้ รวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องเช่น การล้างแผ่นกรองตามความถี่ของการใช้งาน
- ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ ดูดซับฝุ่นละออง และสารพิษทางอากาศ
- ไม้ยืนต้นที่ช่วยในการดูดซับฝุ่นละออง ได้แก่ กระถิน มะขาม ขนุน ชาสีทอง มะม่วง และมะกอกน้ำ
- ไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ ราชพฤกษ์ ชงโค มะเกลือ เสม็ดแดง ข่อย หูกวาง ขนุน เสลา แคฝรั่ง มะเดื่อ ฝรั่ง และพญาสัตบรรณ
- ไม้ประดับที่สามารถดูดสารพิษทางอากาศได้ดี ได้แก่ หมากเหลือง จั๋ง พลูด่าง ไทรใบเล็ก หนวดปลาหมึก เศรษฐีเรือนใน และวาสนาอธิฐาน
ที่มา : หนังสือเรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM2.5 กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย