
รถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทยฯ
สภากาชาดไทย โดย สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จัดตั้งโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ออกหน่วยตามอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำการผ่าตัดให้แก่ผู้ประสบปัญหาเกี่ยวกับดวงตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน โดยมี พญ.อุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ จักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผ่าตัดดวงตา เป็นประธานโครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินการมากว่า 27 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
โครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เดิมชื่อว่า หน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 40 พรรษา
โดยหน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย จะออกปฏิบัติงานทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เป็นประจำ ที่สถานีกาชาดที่ 6 อรัญประเทศเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสระแก้ว ต่อมาพบว่ามีประชาชนเป็นจำนวนมากเดินทางมารักษา ไม่เพียงแต่คนพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีคนต่างจังหวัดที่เดินทางมารักษาที่อำเภออรัญประเทศด้วย เนื่องจากโรคตาเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ หากมีโอกาสได้รักษาก็จะมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติ หากไม่มีโอกาสรักษาก็จะอยู่กับโลกที่มองไม่เห็นตลอดไป สภากาชาดไทยจึงทำโครงการดังกล่าวเพื่อออกหน่วยไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีจักษุแพทย์ เช่น พื้นที่ทุรกันดารที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางเข้ามาพบจักษุแพทย์ในตัวจังหวัดได้ โดยเริ่มต้นการให้บริการการรักษาดวงตาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ตั้งแต่ปี 2545 จนกระทั่งปี 2550 มูลนิธิโรตารีสากล ร่วมกับสโมสรโรตารีในสหรัฐอเมริกา และศูนย์โรตารีในประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวาย “รถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่” แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ปฏิบัติงานผ่าตัดผู้ป่วยบนรถเคลื่อนที่ สภากาชาดไทยจึงนำรถมาดังกล่าวมาทำการผ่าตัดดวงตาในระดับตำบล เนื่องจากยังไม่มีรถสำหรับผ่าตัดที่สามารถเข้าถึงชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลในระดับตำบล เมื่อได้ลงพื้นที่พบว่ามีผู้ด้อยโอกาสมากมาย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องทำงานกลางแดด โดยทีมแพทย์จะทำการรักษาครั้งละ 7 วัน ต่อการออกหน่วย 1 ครั้ง และการออกหน่วย 1 ครั้ง จะใช้แพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน และผู้ช่วยเหลือผู้ประสานงานต่าง ๆ โดยผู้ที่ได้รับการผ่าตัดรักษาดวงตาเหมือนได้ชีวิตใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้อาจคิดว่าตนเองไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการรักษา แต่เมื่อรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่สภากาชาดไทยฯ เข้าถึงในพื้นที่ ทำให้ดวงตากลับมามองเห็นเหมือนเดิมอีกครั้ง
ที่มา : รายการวันใหม่วาไรตี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส