
การจัดการความเครียดจากข่าว
จากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงความขัดแย้งในระดับโลก หรือเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดเนื่องจากการเสพข่าว ในขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าว นอกจากเนื้อหาแล้วยังมีการใส่อารมณ์ร่วมไปในข่าว ทำให้รับอารมณ์ที่อยู่ร่วมกับข่าวมาด้วย จนกลายเป็นอารมณ์ของตัวเอง หากสะสมเป็นเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพจิต
อาการที่สะท้อนความเครียด
– อาการทางกาย ได้แก่ การนอนไม่หลับ การตื่นกลางดึก
– อาการทางอารมณ์ ได้แก่ มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความวิตกกังวลมากขึ้น มีความเครียด ความเศร้า ความกลัว และความโกรธ ที่มากขึ้น
– อาการทางพฤติกรรม ได้แก่ การดื่มเหล้า การใช้สารเสพติด
– อาการทางความคิด ได้แก่ คิดช้าลง ไม่มีสมาธิ
สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกว่าเรามีความเครียดจนเกินไป เนื่องจากคนเราหากไม่มีความเครียดก็จะสามารถคิดตามหลักเหตุผล และมีอารมณ์ตามปกติ แต่ในบางครั้งความเครียดอาจจะมาโดยที่เราไม่รู้ตัว รวมถึงไม่เชื่อหากมีคนอื่นมาบอกว่าเรามีความเครียดมากเกินไป เพราะคนส่วนมากไม่เคยจำภาพตัวเองเวลาที่มีอาการปกติ และไม่เคยทบทวนความคิดตนเอง ทำให้เวลาเครียดแล้วไม่รู้ตัว พอไม่รู้เราก็จะจมอยู่กับปัญหานั้นนาน ๆ จนส่งผลต่อสุขภาพจิตในที่สุด
วิธีแก้ไขปัญหาความเครียด
- เราต้องรู้ตัวก่อน หลายคนไม่รู้ตัวว่าตอนนี้ตัวเองกำลังประสบปัญหาความเครียด พอไม่รู้ตัวก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้นจึงต้องประเมินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สังเกตตนเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความคิดพฤติกรรมหรือไม่
- หาสาเหตุของความเครียด ส่วนมากความเครียดมักมีสาเหตุหากเราไม่หลอกตัวเอง เมื่อเราหาสาเหตุพบ ให้จัดการที่สาเหตุ เช่น หากสาเหตุเกิดจากการเสพข่าวสารที่มากเกินไป ให้หาวิธีที่ทำให้เราเสพข่าวได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดปัญหาความเครียด
- หากเราสังเกตอาการของคนใกล้ตัวว่ามีความเครียดมากเกินไป ให้บอกด้วยความเป็นห่วงถึงความเปลี่ยนแปลงของอาการและพฤติกรรม และชวนพูดคุยเพื่อเป็นการระบายความเครียด การพูดคุยกับผู้ที่มีความเครียดให้ริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดี พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วง และเราไม่ต้องการกล่าวโทษหรือกล่าวร้ายกับเขา
- หากเราฟังปัญหาความเครียดจากคนใกล้ตัวแล้วเป็นปัญหาที่สามารถช่วยได้ ก็ให้อาสาช่วยหรือบรรเทา หากปัญหาที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่เราจะรับมือได้ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เราสามารถแนะนำให้ผู้ที่มีความเครียดไปปรึกษาได้ ซึ่งปัจจุบันการไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน เราสามารถเข้าไปคุยได้โดยตรง หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งสามารถโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หากไม่สะดวกคุยสามารถประเมินความเครียดด้วยตนเอง ได้ที่ www.วัดใจ.com โดยกรมสุขภาพจิต สามารถเข้าไปประเมินความเครียด ความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย หรือภาวะหมดไฟได้ โดยหลังจากประเมินแล้วยังมีคำแนะนำให้เรากลับไปพิจารณาในการจัดการกับความเครียดต่อไป
ปัญหาความขัดแย้งกับคนใกล้ชิดจากการเสพข่าว
คนเรามีความเชื่อ ความรัก ความศรัทธาที่แตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้งกันได้ หากเราไม่เปิดใจยอมรับถึงความแตกต่างของผู้อื่น รวมถึงเรื่องที่เป็นกระแสสังคม หากเรามีความเห็นไม่ตรงกันกับคนใกล้ชิดควรเปิดใจและลองรับฟังดู สุดท้ายแล้วหากเราไม่เชื่อหรือมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็เป็นการลดความขัดแย้งกับคนใกล้ตัวได้
เสพข่าวอย่างไรไม่เครียด
อย่างแรกเริ่มจากตัวเราเองก่อน แต่ละคนมีขอบเขตและระยะเวลาในการเสพข่าวที่แตกต่างกัน เมื่อเรารู้ตัวว่าเราเกิดความเครียดจากการเสพข่าว ให้เราจำกัดการเข้าถึงข่าวให้มากที่สุด แต่ปัจจุบันการทำค่อนข้างยาก เนื่องจากข่าวมักจะมาตาม Social Media เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติในการเล่น Social Media ในระหว่างวันควรมองข้ามหรือเลื่อนผ่านข่าวนั้นไปก่อน แล้วค่อยมาดูสรุปทีเดียวในตอนเย็น เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าตัวเองจะตกข่าว หากข่าวนั้นไม่ได้เป็นข่าวที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
ที่มา : รายการวันใหม่วาไรตี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส