
สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สภากาชาดไทย เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2465 โดยเริ่มแรกจากการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และต่อมามีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2471 สถานเสาวภา ได้ใช้ตึก “เสรฐภักดี” และ “ตึกราชูปถัมภ์” ภายในสถานเสาวภา เป็นสถานที่เลี้ยงม้าสำหรับใช้ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู
เมื่อมีความต้องการใช้เซรุ่มแก้พิษงูมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายการเลี้ยงม้าให้มากกว่าเดิม จึงได้ย้ายสถานที่เลี้ยงม้าไปที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และในปี 2524 ความต้องการใช้ม้าในการผลิตเซรุ่มเพิ่มขึ้นอีก สภากาชาดไทยจึงได้จัดหาที่ดินริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรีเพื่อให้สถานเสาวภาใช้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างสถานที่เลี้ยงม้าแห่งใหม่ โดยใช้ชื่อว่าสถานีเพาะเลี้ยงม้าวังม่วง แต่เนื่องด้วยขณะนั้นมีโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ในโครงการพระราชดำริ สถานีเพาะเลี้ยงม้าวังม่วงจึงอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหากเขื่อนกักเก็บน้ำสร้างเสร็จ จึงต้องหาสถานที่แห่งใหม่
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สภากาชาดไทยจึงได้รับพระราชทานให้ใช้พื้นที่ตรงเขตติดต่อของตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ของโครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง เป็นสถานที่จัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงม้าแห่งใหม่ การก่อสร้างสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองแห่งนี้ เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 ไปแล้วเสร็จในวันที่ 10 ตุลาคม 2540 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดและทรงปลูกต้นพญาสัตบรรณหน้าอาคารสำนักงาน เมื่อวันที่21 มกราคม 2543
ในส่วนของพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีประมาณ 75 ไร่ ที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่อยู่บนเขา ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มากนัก นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่จำนวนกว่า 500 ไร่ ได้แบ่งเป็นแปลงปลูกหญ้าเพื่อปล่อยม้า และแปลงปลูกหญ้าสดเพื่อไว้ให้ม้ากิน ที่เหลือประมาณ 43 ไร่ถูกนำมาใช้เป็นที่ก่อสร้างบ้านพักและอาคารปฏิบัติงานประกอบด้วย บ้านพัก 60 หลัง อาคารสำนักงาน 1 หลัง อาคารปฏิบัติงานเซรุ่ม 1 หลัง อาคารสัตว์ทดลอง โรงรถ และโรงเก็บของต่าง ๆ มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำที่นำมาใช้ผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อใช้ภายใน
ปัจจุบัน สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีม้าทั้งหมด 515 ตัว โดยเป็นม้าสำหรับเจาะเก็บพลาสมา
เพื่อนำไปผลิตเซรุ่ม จำนวน 260 ตัว เป็นม้าที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป การใช้งานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ม้าสำหรับผลิตเซรุ่มแก้พิษงูทั้ง 7 ชนิด จำนวน171 ตัว
กลุ่มที่ 2 ม้าสำหรับผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 89 ตัว
ส่วนม้าที่เหลือเป็นลูกม้าสำรองที่มีอายุน้อยกว่า 4 ปี พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และม้าปลดที่ไม่พร้อมใช้งานผลิตเซรุ่ม
สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีภารกิจ 3 ด้าน คือ
- การจัดการฟาร์มม้า การบริหารจัดการงานต่าง ๆ อย่างครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงม้า และผลิตลูกม้าเพื่อใช้งานการผลิตเซรุ่มต่าง ๆ ได้แก่
– การจัดการระบบผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกม้า
– การเลี้ยงดูและการรักษาม้าที่ป่วย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ
– การจัดการแปลงหญ้าเลี้ยงม้า
– การจัดการและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง อาคาร โรงเรือนเลี้ยงม้า แปลงเลี้ยงม้า
– การปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพม้าและการผลิตเซรุ่ม
– การผลิตพลาสมาจากม้าเพื่อทำเซรุ่ม
– งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ
- การผลิตพลาสมา (plasma) จากม้าเพื่อทำเซรุ่ม คือ การนำพลาสมาจากม้าที่คัดเลือกและผ่านการฉีดกระตุ้นแล้วเพื่อนำไปผลิตเซรุ่มแก้พิษงู และเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า
งานในส่วนนี้ เริ่มจากการคัดม้าที่มีสุขภาพดี การฉีดกระตุ้นพิษงูหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในม้า การตรวจสุขภาพเพื่อคัดเลือกม้ามาทำเซรุ่ม การเจาะเก็บเลือดพร้อมแยกพลาสมาจากม้า และการขนส่งพลาสมาไปโรงงานผลิตเป็นเซรุ่มที่สถานเสาวภา ปัจจุบันมีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด ทั้งที่เป็นแบบเดี่ยวสำหรับแก้พิษงูตัวเดียว (monovalent) และแบบรวมที่แก้พิษงูได้หลายชนิด (polyvalent) ในขวดเดียวกัน
- การเลี้ยงสัตว์ทดลอง สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีงานเพาะเลี้ยงสัตว์ทดลอง โดยสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูเม้าส์ หรือหนูถีบจักร (mice) ซึ่งสัตว์ทดลองนี้ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเซรุ่มส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งต่อให้นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้ทดสอบประกอบงานวิจัยต่างๆ นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีภารกิจที่สำคัญเปรียบเสมือนบทบาทและหน้าที่หลักของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในด้านการผลิตชีววัตถุ เป็นแหล่งผลิตพลาสมาแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ที่มีขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) มีระบบการเลี้ยงม้าอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกปฏิบัติทักษะทางด้านสัตวแพทย์ให้แก่นิสิตนักศึกษา อีกด้วย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โทร. 0 2252 0161-4
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามภารกิจด้านการผลิตและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ และสามารถจำหน่ายให้ต่างประเทศ อีกทั้งสนองพระปณิธาน “เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษยชาติ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสถาปนาสถาบันแห่งนี้ตลอดไป
ที่มา : นิตยสารสนองโอฐสภากาชาดไทย