
รักษา “สิว” อย่างไรดี ?
“สิว” เรื่องเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างความกังวลใจให้กับเราได้ โดยเฉพาะปัญหาสิวบนใบหน้า โดยสิวสามารถแยกประเภทได้ 4 ประเภท คือ สิวอุดตัน สิวอักเสบ สิวหัวหนอง และสิวหัวช้าง ไม่ว่าสิวชนิดไหน ๆ เมื่อเกิดขึ้นบนใบหน้าที่เคยเรียบเนียนเกลี้ยงเกลา หลายคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจที่จะออกไปพบปะผู้คน และคิดหาหนทางว่าจะรักษาสิวอย่างไรดี กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้คิดค้นพัฒนาสูตรตำรับขึ้นมา เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ในการรักษาสิวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งการรักษาสิวด้วยยาจะใช้เพียงแค่ยาทาภายนอก หรืออาจต้องรับประทานยาควบคู่ไปด้วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว หากเป็นสิวอุดตันก็สามารถใช้ยาทาเพื่อรักษาได้ แต่หากเป็นสิวที่รุนแรง เช่น สิวเป็นไตลึก อาจจะต้องใช้ยาทาร่วมกับยารับประทาน ซึ่งแนวทางในการรักษาสิวนั้นควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผิวหน้ากลับมาเนียนเกลี้ยงเกลาได้เหมือนเดิม
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้คิดค้นพัฒนาสูตรตำรับและผลิตขึ้นมาใช้ภายในโรงพยาบาลเพื่อรักษาสิว ในปัจจุบันมีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
- กลุ่ม Retinoid หรืออนุพันธุ์ของวิตามินเอ
ยากลุ่มนี้ใช้สำหรับรักษาสิวอุดตันผลิตออกมาทั้งในรูปแบบครีม เจล และโลชั่น สำหรับรูปแบบครีมและโลชั่นจะมีความเข้มข้นของตัวยาอยู่ 3 ระดับให้เลือกใช้ คือ 0.025% 0.05% และ 0.075% บรรจุหลอดขนาด 5 กรัม และโลชั่น บรรจุขวดขนาด 30 ซีซี ส่วนรูปแบบเจลบรรจุหลอด ขนาด 5 กรัม มีความเข้มข้นของตัวยา 2 ระดับ คือ 0.05% และ 0.1% ซึ่งจะใช้ยาความเข้มข้นเท่าใดหรือรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นสำคัญ
- Benzoyl Peroxide (BP)
เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาสิวอักเสบ ช่วยให้หัวสิวยุบเร็วขึ้น มีจำหน่ายในรูปแบบเจล บรรจุหลอดขนาด 5 กรัม โดยมีความเข้มข้นของตัวยา 2 ระดับ คือ 2.5% และ 5% ซึ่งหากใช้ระยะแรกอาจเริ่มต้นใช้ที่ความเข้มข้น 2.5% ก่อน โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพื่อไม่ให้ผิวหนังระคายเคืองมากเกินไป
- Clindamycin Lotion
เป็นยาปฏิชีวนะแต้มสิวอักเสบในรูปแบบโลชั่นใส มีความเข้มข้นของตัวยา 1% บรรจุขวดขนาด 30 ซีซี แต่ยาสูตรนี้จะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมค่อนข้างมาก ดังนั้นคนที่แพ้แอลกอฮอล์อาจต้องระมัดระวังหรือห้ามใช้
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ กลุ่มงานเภสัชกรรมได้ผลิตขึ้นมาเพื่อให้แพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สั่งจ่ายภายในโรงพยาบาลเท่านั้น หากท่านพบเห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีวางจำหน่ายภายนอกโรงพยาบาล อาจเป็นผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบและอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ จึงไม่แนะนำให้ซื้อจากที่อื่นหรือภายนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ที่มา: วารสาร ฬ.จุฬา