สถานการณ์เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกรณรงค์และให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อ การเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา อาทิ ปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย จิตใจ และปัญหาทางด้านพฤติกรรม ทั้งนี้มีข้อมูลรายงานจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ในทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3.3 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ5.9 ของการตายทั้งหมด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 200 ชนิด ถือเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บอื่น ๆ อีกด้วย
ผลเสียด้านสุขภาพ
ปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย เพราะหลังจากดื่มแอลกอฮอล์จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยทันทีไม่ผ่านกระบวนการย่อย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ได้แก่
- สมองและระบบประสาท การดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาวจะส่งผลให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ดื่มมีอาการความจำเสื่อมความคิดเลอะเลือน สมองหดตัวมีขนาดเล็กลง บางรายมีอาการประสาทหลอนหวาดระแวง
- ระบบทางเดินอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะออกมาในปริมาณมากขึ้น มีโอกาสทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กได้
- ตับ เป็นอวัยวะที่รับพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด แอลกอฮอล์จะเข้าทำลายเซลล์ตับทำให้ไขมันเข้าไปแทนที่และคั่งอยู่ในตับ เมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่งจะมีการสร้างพังผืดที่บริเวณนั้น ทำให้เป็น “โรคตับแข็ง”
- หัวใจและหลอดเลือด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น การบีบตัวของหัวใจไม่ปกติ ความดันโลหิตสูงขึ้น และส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ขาดเลือด
- อวัยวะสืบพันธุ์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จะทำให้ความต้องการทางเพศลดลงและอาจส่งผลให้ลูกอัณฑะเล็กลงอีกด้วย
“CAGE” 4 อาการเสี่ยงเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ อย่างต่อเนื่องจะส่งผลเสียต่อ ตับ โดยตรงแล้วยังมีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ อาทิ ตับอ่อน ไต สมอง สำหรับผู้ที่ดื่มจะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจนเกิดอาการลงแดงเมื่อหยุดดื่ม การเกิดอาการของโรคจะมีลักษณะค่อย ๆ ดำเนินไปจนกระทั่งมีอาการทางประสาทและทางกายตามมา หากสงสัยว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดเข้าข่ายโรคพิษสุราเรื้อรังหรือไม่ ลองตรวจสอบตามรายการด้านล่าง หากพบอาการ 2 ใน 4 ข้อ บ่งชี้ว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- Cut down คนรอบตัวบ่นหรือตักเตือนให้ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง
- Annoy อาการหงุดหงิดหรือรำคาญจากการดื่มของผู้ป่วย
- Guilty ความรู้สึกผิดจากการดื่มในปริมาณมาก
- Eye – opener ตื่นเช้าต้องดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำ เพื่อลดอาการมึนเมา หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ถอน”
ระบบบริการสุขภาพ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการรับบริการของผู้ป่วยด้านโรคตับ อย่างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ ที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะด้านโรคตับแบบ องค์รวม (one-stop service) ให้การรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยเป้าหมายของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ คือ “ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ป่วยต้องมาถึงจุดที่เป็นภาวะสุดท้ายของโรคตับ” ทางศูนย์ จึงมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคตับ รวมถึงสามารถตรวจพบและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สำหรับท่านใดที่สนใจเข้ารับการตรวจรักษาจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ อาคารวชิรุณหิศ เปิดทำการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 02 256 4691
ที่มา:
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
กรมอนามัย