เยี่ยมชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุ “ปาบึก”
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 นางฐานิกา พรหมประสงค์ หัวหน้าสถานีกาชาดสิรินธร จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยคณะจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมเยี่ยมชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุ “ปาบึก” พัดถล่มเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยในด้านความเข้มแข็งของชุมชน ในการรับมือกับภัยพิบัติและสภาพจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และมอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย เพื่อช่วยเลือผู้ประสบภัย ณ พื้นที่หมู่ 13 และ14 ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
โดยมีชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เข้าร่วมโครงการ “ชุมชนเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ” กับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย โดยการดูแลของสถานีกาชาดสิริธร (สถานีกาชาดที่ 12 ทุ่งสง) จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ ตำบลแหลมตะลุมพุก ,ตำบลคลองน้อย อ.ปากพนัง,ตำบลควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ และตำบลท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช พร้อมได้ดำเนินการอพยพตามแผน โดยไม่มีผู้เสียชีวิต และผู้สูญหาย
จากเหตุการณ์พายุ “ปาบึก” มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนได้รับความเสียหายจากบ้านเรือน จำนวน 20 หลังคาเรือน และบ้านเรือนเสียหายบางส่วน 803 หลังคาเรือน อีกทั้งสาธารณูปโภคยังได้รับความเสียหาย ได้แก่ ถนนบางพื้นที่น้ำท่วมสูง และบางพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ล้มทับถนนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เสาไฟฟ้าหักโค่นทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญานโทรศัพท์ถูกตัดขาดไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน พื้นที่ทางการเกษตร (สวนยาง สวนปาล์ม สวนส้มโอ สวนมังคุด และทุเรียน) และอุปกรณ์การประมงได้รับความเสียหาย โรงเรียนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนรวมถึงคอมพิวเตอร์เสียหาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เอกสารต่างๆ และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ยังได้รับความเสียหายทั้งหมด เนื่องจากถูกน้ำท่วมโดยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จึงมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและเด็ก ณ ศูนย์พักพิงและหมู่บ้านประสบภัย ได้แก่ ชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยฯ 6,400 ชุด, ชุดทำความสะอาดบ้านเรือน จำนวน 200 ชุด,ผ้าห่ม จำนวน 1,323 ผืน มุ้งกันยุง 1,035 หลัง และทำการมอบชุดเครื่องครัว ชุดเครื่องนอนและชุดทำความสะอาด ให้แก่ผู้ประสบภัยอีกทั้ง 10 ชุมชน จำนวน 4,476 ชุด นอกจากนี้ ยังประเมินความต้องการในการช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และการส่งเสริมสุขอนามัยให้แก่ผู้ประสบภัย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบของการขาดแคลนด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยจากเหตุภัยพิบัติด้วย
ส่วนด้านการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ได้จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ณ วัดเกาะนางโดย และโรงเรียนบ้านเกาะนางโดย โดยการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่,จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านน้ำ สุขาภิบาล และการส่งเสริมสุขอนามัย,ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติ และประสานกองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อดำเนินการตัดต้นไม้ที่ล้มทับบ้านเรือนจนได้รับความเสียหาย