จากสภาอุณาโลมแดง ถึง สภากาชาดไทย
สถานที่ทำการของกองอำนวยการสภากาชาดสยาม (พ.ศ. 2457-2475) อาศัยสถานที่ของกรมเสนาธิการทหารบก เชิงสะพานช้างโรงสี ริมคลองหลอด ตรงข้ามกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันคือ อาคารกรมแผนที่ทหาร

สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลเพื่อมนุษยธรรม ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีการสู้รบเกิดขึ้น  เป็นผลให้มีทหารเสียชีวิต และบาดเจ็บ ได้รับความทุกข์ทรมานจำนวนมาก แต่ยังไม่มีองค์การกุศลใดเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เป็นกิจลักษณะ

ดังนั้นกุลสตรีไทยที่สูงศักดิ์ในเวลานั้น โดยการนำของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของ เพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การ เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436  ต่อมาถือเป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงเป็น สภานายิกา  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น เลขานุการิณี และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นเหรัญญิกา สภาอุณาโลมแดง

พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราชเสด็จ กลับจากการศึกษา ในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ฉะนั้น เมื่อ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จสู่ สวรรคาลัย พระองค์จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้ เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อ พ.ศ. 2457 ชื่อสภาอุณาโลมแดง และสภากาชาดนี้ เรียกปะปนกันตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. 2453 ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งเปลี่ยนจาก สยามเป็นไทย มาจนบัดนี้

ในปีพ..2461 มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บในสงครามและยามสงบ กับทั้งทำการบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ลัทธิ  ศาสนา หรือความเห็นในทางการเมืองของผู้ประสบภัย ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง และต่อมาในปีพ.. 2463 ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยามแก้ไขเพิ่มเติมจัดระเบียบสภากาชาดสยามเป็นสมาคมอิสระ ยังผลให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศรับรองสภากาชาดสยาม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม .. 2463 และสันนิบาตสภากาชาดมีมติรับสภากาชาดสยามเป็นสมาชิกเมื่อปีพ.. 2464 ต่อมาสภากาชาดสยามเปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดไทย เมื่อปีพ.. 2482

นอกจากพระราชบัญญัติสภากาชาดไทย 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติสภากาชาดไทย ฉบับที่ 3 วันที่ 1 สิงหาคม พ..2499  เกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายกาชาด เพื่ออนุวัติตามบทแห่งอนุสัญญาเจนีวา  ปีพ..2492 พระราชบัญญัติฉบับที่ 4 วันที่13 มีนาคม พ..2550 ว่าด้วยเหรียญกาชาด และพระราชบัญญัติ ฉบับที่ 5 วันที่ 12 สิงหาคม พ..2550 เพิ่มข้อความในพระราชบัญญัติปีพ..2461 ว่า ให้สภากาชาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการอันเป็นสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาดสากล และพึงได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐ

โลโก้อุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม

สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม

“เครื่องหมายกากบาทตรงกลาง หมายถึงทิศทั้ง ๔ ที่มีเครื่องหมาย อ-อุ-ม อยู่ตรงกลาง จะหมายถึงพระรัตนตรัย หรือเทพเจ้าทั้ง ๓ ทรงคุ้มครองทั้ง ๔ ทิศ ก็ได้ ส่วนยันต์เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นมุม ๘ มุม ก็คือ ทิศที่ย่อยออกไปจาก ๔ ทิศเป็น ๘ ทิศ ถ้าไปดูฐานเจดีย์ทางเมืองกำแพงเพชรและสุโขทัย บางองค์ก็จะทำฐาน ๔ เหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ฐานเป็น ๘ เหลี่ยมในลักษณะเดียวกัน”

ลัญลักษณ์อุณาโลมแดงจึงมีความหมายถึง สิริมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์เจ้า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นธงชัยของผู้เสี่ยงชีวิตเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมการณ์ของกาชาดสากลในวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งประกอบด้วยทหาร พลเรือนทั้งชายและหญิงโดยไม่จำกัดสิทธฺศาสนา