๑๐๐ ปี วันคล้ายวันสวรรคต
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

สภานายิกาพระองค์แรกของสภากาชาดไทย

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๖๖ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา  พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๖

 

เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอิสริยยศตามลำดับดังนี้

  • พุทธศักราช ๒๔๒๓        เป็น      พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
  • พุทธศักราช ๒๔๓๐        เป็น      พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
  • พุทธศักราช ๒๔๓๗        เป็น      สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
  • พุทธศักราช ๒๔๔๐  เป็น      สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑
  • พุทธศักราช ๒๔๕๓        เป็น      สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๐ ตุลาคม ปีมะแม เอกศก จ.ศ. ๑๒๑๘ พุทธศักราช ๒๔๖๒ ณ พระราชวังพญาไท เวลา ๗ นาฬิกา ๕๐ นาที สิริพระชนมายุ ๕๖ พรรษา ๙ เดือน ๑๕ วัน

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Educational Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันพุธ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพ ๑๕๐ ปี ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สังคมและมนุษยศาสตร์

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ กับสภากาชาดไทย

เมื่อครั้งเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) กรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เกิดการสู้รบ มีทหารบาดเจ็บ ล้มตาย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เชิญชวนพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าสตรีสละทรัพย์เป็นทุนตั้งสภาเพื่อการกุศลขึ้น ชื่อ “อุณาโลมแดง” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบ้านเมืองในยามสงคราม ด้วยการจัดหาเครื่องยา เครื่องพยาบาล ให้แก่ทหารที่ต้องไปราชการในสนามรบ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็น “สภาชนนี” พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็น “สภานายิกา”

เมื่อพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดตั้งสภานี้ขึ้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งตอบว่า “เห็นว่าเป็นความคิดอันดี ซึ่งต้องด้วยแบบอย่างประเทศทั้งปวง” จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งเป็น “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ นับได้ว่า พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาของสภาอุณาโลมแดงแห่งนี้

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ สภานายิกาและกรรมการิณีสภาได้ประชุมกันครั้งแรก ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เพื่อดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้ภายหลังการประชุม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับเป็น “ทานมยูปถัมภก” และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในครั้งแรก จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท

            ในการเรี่ยไรออกทุนทรัพย์ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี สภานายิกา พระราชทาน คราวแรก จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท  ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์  และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในการจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม

ตำรายาแผนไทยขนานต่าง ๆ จากพระราชเสาวนีย์ของสภานายิกา

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ขึ้นแล้วนั้น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา ทรงให้มีการประชุมกรรมการิณีสภา ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๒ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร โดยในการประชุมครั้งนี้ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ความตอนหนึ่งว่า

“...ส่วนเงินที่เรี่ยไรได้นั้นคิดจะแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่ ๑ ในชั้นแรกนี้ คิดจะจัดการแต่เพียงจำหน่ายยาและเครื่องพยาบาล ส่งไปทุกกองทหารที่ประจำรักษาพระราชอาณาเขตต์... และเงินที่จะใช้ซื้อยาจะซื้อเครื่องทำยา เครื่องสำหรับพยาบาลส่งไปให้ทุกกองทหารให้ทั่วตามเวลาที่ส่งได้...”

จากพระราชเสาวนีย์ข้างต้น ในช่วงแรก สภาฯ จึงเน้นภารกิจไปที่การจัดหายา ทั้งยาฝรั่งที่จัดหาได้ในพระนคร และยาฝรั่งที่สั่งซื้อทางโทรเลขไปยังร้านขายยาในยุโรปโดยตรง รวมไปถึงยาแผนไทย สำหรับยาแผนไทยนี้ สภานายิกามีรับสั่งให้อาลักษณ์คัดลอกพระตำราข้างที่และตำรายาเกร็ด อันเป็นยาแผนไทยที่ใช้ได้ผลดี เช่น ยาประสะพิมเสน ยานัตถุ์ ยาประสะกานพลู ยาเขียวใบฉนวน ยากาลกระบือ ยาอินทรียธาตุ เป็นต้น และทรงมอบหมายให้กรรมการิณีแต่ละท่านรับตำรับยาไปช่วยกันทำ คนละ ๑ ถึง ๒ ขนาน เพื่อจัดส่งไปให้ทหารที่ประจำอยู่ในมณฑลลาวกาวและมณฑลลาวพวน ใช้ในการบรรเทาทุกข์โรคภัยให้ทันต่อความต้องการในเบื้องต้น

ตำรับยาสภาอุณาโลมแดง ร.ศ.๑๑๒ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตำราแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐

ตึกปัญจมราชินี ตึกผู้ป่วยจากพระมหากรุณาธิคุณ

เมื่อแรกสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลยังมีน้อย แต่ประชาชนต่างหลั่งไหลกันเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้ตึกที่มีอยู่ไม่เพียงพอแก่การรองรับผู้ป่วย จึงต้องเร่งสร้างตึกที่พักผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ในการสร้างตึกนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมาก แม้ว่าประชาชนจะบริจาคเงินเพื่อบำรุงสภากาชาดสยาม แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างตึกได้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในฐานะสภานายิกา มีพระราชประสงค์จะบำรุงโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามให้เจริญทันกับความต้องการของประชาชน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน ๑๐๖,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างตึกที่พักผู้ป่วยขึ้นอีกหนึ่งหลัง โดยว่าจ้างบริษัท บางกอกด๊อก ให้สร้างตึก ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี ตึกนี้เป็นที่พักผู้ป่วยหญิง มี ๒ ชั้น  ชั้นบนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเสียเงิน และชั้นล่างสำหรับผู้ป่วยอนาถา อยู่โดยไม่ต้องเสียเงิน

            วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดตึก และพระราชทานนามตึกนี้ว่า “ตึกปัญจมราชินี” ทั้งเสด็จพระราชดำเนินเหยียบตึกเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ที่จะมาพักรักษาตัวในตึกนี้อีกด้วย

สถานเสาวภา สถานเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชชนนี  จึงมีพระราชดำริว่าควรจะสร้างพระราชานุสรณ์เพื่อเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีคู่กันกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ

พระองค์จึงได้พระราชทานที่ดินบริเวณถนนพระรามที่ ๔ และถนนสนามม้า จังหวัดพระนคร และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๒๕๘,๐๐๐ บาท สมทบด้วยทรัพย์บริจาคจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในอีก ๓๒,๓๐๖.๕๓ บาท มอบให้สภากาชาดสยาม เพื่อสร้างสถานที่ทำการแห่งใหม่ของสถานปาสเตอร์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า สถานเสาวภา ตามพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชชนนี และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕

สถานเสาวภา มีภารกิจหลักเพื่อเป็นสถาบันที่ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการผลิตเซรุ่มป้องกันและรักษาโรคธรรมดาหรือโรคระบาดบางชนิด เช่น ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ รวมทั้งการค้นคว้าในเรื่องสัตว์พิษและพืชพิษ ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องสัตว์มีพิษกัด โรคเมืองร้อน รวมทั้งวิจัย และตรวจบริการทางวิทยาศาสตร์ ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน

เพื่อเฉลิมพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อสภากาชาดไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระอิริยาบถทรงยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ บริเวณสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และได้จัดพิธีบวงสรวง บูชาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการ สภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕