เรื่องเล่า…จากศูนย์ดวงตา ตอน “ความหวังที่จะได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง”
มอบดวงตาเมื่อไม่ได้ใช้แล้วให้กับผู้ป่วยที่รอรับบริจาค ได้ใช้ดวงตาของเราต่อไป โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ป่วย เมื่อปี พ.ศ. 2512 และเป็นกระจกตาดวงแรกที่ได้การบริจาคผ่านศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยอีกด้วย “กระจกตา” มีลักษณะโค้งนูน ใส อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตา ทำหน้าที่เป็นเลนส์ชิ้นหนึ่งในการหักเหแสงเพื่อโฟกัสภาพ เมื่อคนไข้มีอาการกระจกตกขุ่น มัว บวม หรือผิดรูปร่าง จะส่งผลต่อการส่งผ่านและหักเหของแสง มีผลต่อการโฟกัสของภาพ ทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง อย่างไรก็ตามกระจกตาสามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนได้ แต่ต้องได้รับกระจกตามาจากผู้บริจาคเสียก่อน กระจกตาแบ่งออกเป็น 5 ชั้น สามารถเกิดความผิดปกติขึ้นได้ทุกชั้น โดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบเดิม เมื่อมีความผิดปกติที่กระจกตาชั้นใดจะต้องเปลี่ยนทุกชั้น แต่เทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้สามารถผ่าตัดเฉพาะชั้นที่มีความผิดปกติได้ ซึ่งช่วยให้คนไข้ปลอดภัยมากขึ้นและผลการผ่าตัดดีขึ้น ด้วยเทคนิคใหม่นี้ทำให้กระจกตาที่ได้รับจากผู้บริจาค 1 คน จะสามารถแบ่งนำไปผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้มากกว่า 1 คน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนกระจกได้ ผู้ป่วยมักมีความกังวลว่า เมื่อผ่าตัดแล้วจะมองเห็นดีขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้การผ่าตัดจะได้ผลดี ขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น วิธีการผ่าตัด ตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการมองเห็นของดวงตาว่ายังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด…