
ฟังอย่างปลอดภัย
หูของคนเรามีเพียงชุดเดียว หากถูกเสียงดังเกินไปมาทำลาย เราอาจจะต้องประสาทหูเสื่อมไปทั้งชีวิต สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันประสาทหูของเรา โดยการฟังอย่างปลอดภัย เพราะปัญหาการได้ยินกว่า 60% สามารถป้องกันได้ วันการได้ยินของโลกปีนี้ (World Hearing Day 2022) องค์การอนามัยโลกอยากให้แพทย์ทุกคนร่วมกันสื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า การฟังอย่างปลอดภัยคืออะไร ?
ก่อนหน้านี้หลายคนอาจรู้สึกว่า วันไหนที่เราได้ยินไม่ชัด หรือพบเจอผู้สูงอายุที่ได้ยินไม่ชัด ก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีอายุมาก แต่ความจริงแล้วสาเหตุของภาวะสูญเสียการได้ยินมีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขี้หูตัน เยื่อแก้วหูทะลุ โรคต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อ เนื้องอก หินปูนเกาะกระดูก หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังเป็นเวลานาน
ปัญหาหูตึง นำมาซึ่งผลกระทบทางสุขภาพต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปัญหาหูตึง คือ ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากหากหูได้ยินไม่ชัด จะส่งผลให้สมองขาดการกระตุ้น เพราะไม่ได้พูดคุย ไม่ได้สื่อสารกับผู้คน การที่สมองของขาดการกระตุ้นก็จะค่อย ๆ เสื่อมถอยลง และนำมาสู่ปัญหาสมองเสื่อมในที่สุด บางคนอาจจะนำมาสู่ปัญหาการสื่อสาร ทำให้แยกตัวออกจากสังคม ไม่สามารถพูดคุยกับลูก เพื่อนฝูง หรือไปทำงานได้เหมือนเดิม นำมาสู่ปัญหาซึมเศร้าและผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย
สำหรับการฟังอย่างปลอดภัย องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ 4 ข้อหลักง่าย ๆ คือ 1. ลดระดับเสียง 2. ลดเวลาการฟัง 3. หลีกเลี่ยงความดัง และ 4. ตรวจพลังการได้ยิน
- ลดระดับเสียง ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง เช่น การเที่ยวผับ หรือคอนเสิร์ต ปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถไปเที่ยวตามสถานที่บันเทิงต่าง ๆ ได้ จึงมักเปิดเพลงฟังที่บ้าน เปิดเพลงใส่หูฟังตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหูฟังแบบครอบ หรือหูฟังแบบใส่ในช่องหู รวมถึงอุปกรณ์เปิดผ่านชุดลำโพงที่บ้าน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรเปิดเกิน 60% ของเครื่องที่ตั้งของไว้
- ลดเวลาการฟัง การสูญเสียเซลล์ประสาทหู นอกจากเสียงดังแล้ว ช่วงระยะเวลาที่ได้ยินเสียงดังก็มีส่วนด้วย เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีเสียงดังตลอดเวลา มักมีอันตรายต่อหูมากกว่าคนทั่วไป ตามกฎหมายแล้วหากเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล จะไม่สามารถทำงานอยู่ในสภาวะนี้ได้เกิน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หากเสียงดังเกินกว่านี้จำนวนชั่วโมงการทำงานจะต้องลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ โรงงานจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันเสียงดังต่าง ๆ ฉะนั้นจึงควรมีระยะเวลาที่จำกัด เพราะยิ่งฟังเสียงดังนานเท่าใดก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายเส้นประสาทหูมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงความดัง หากจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง เช่น สนามซ้อมยิงปืน หรือการจุดประทัดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ควรพยายามอยู่ให้ไกลจากจุดกำเนิดเสียงให้มากที่สุด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันการได้ยิน เช่น หูฟังแบบครอบ หรือ Ear plugs จะสามารถช่วยลดระดับเสียงดังที่ได้มากขึ้น เพื่อสุขภาพหูของเราเอง
- ตรวจพลังการได้ยิน คือ การตรวจเช็คระดับการได้ยินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากรู้สึกว่ามีปัญหา การได้ยิน การได้ยินแย่ลง เสียงในหูผิดปกติ เข้าใจคำพูดได้แย่ลง ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก
องค์การอนามัยโลกยังได้แนะนำกลุ่มที่ควรคัดกรองการได้ยินแม้ไม่มีอาการ ได้แก่
- กลุ่มเด็กแรกเกิด มีการตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กแรกคลอด ส่วนใหญ่หากมีปัญหาแพทย์จะรีบนำทารกมากระตุ้นการได้ยินทันที เด็กจะได้มีพัฒนาการทางภาษา และสามารถเข้าโรงเรียนได้เหมือนเด็กปกติ
- กลุ่มเด็กก่อนเข้าโรงเรียน อายุ 4-5 ขวบ เด็กกลุ่มนี้อาจมีการติดเชื้อในหู หรือหูน้ำหนวก ที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยิน จึงควรตรวจเช็คก่อนเด็กจะเข้า ป.1 เพื่อให้เรียนทันเพื่อน และมีพัฒนาการทางด้านการเรียนได้เข้าใจอย่างเต็มที่
- กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็คและคัดกรองปัญหาการได้ยินในทุกราย เพื่อแพทย์จะได้ทำการแก้ไข ฟื้นฟู ใส่เครื่องช่วยฟัง หรือเครื่องกระตุ้นการได้ยินเพื่อกระตุ้นสมอง และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง เช่น ปัญหาสมองเสื่อม ปัญหาการสื่อสาร และความสัมพันธ์ครอบครัว
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และทีมแพทย์ เน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของการฟังอย่างปลอดภัยมากขึ้น สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองหรือคนในครอบครัวมีปัญหากันได้ยิน สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทางโสตประสาทวิทยา ได้ที่ อาคาร ภปร ชั้น 10 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ที่มา www.youtube.com/ติดจอฬจุฬา