การได้ยินเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารในการรับฟังความรู้สึก ความต้องการ พร้อมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ
สำหรับปัญหาการได้ยินนั้น มักเกิดในผู้สูงอายุ ถึง 1 ใน 3 ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน เช่น ทำให้ไม่กล้าพบปะผู้คน ไม่กล้าสื่อสารกับผู้อื่น ไม่สามารถขับรถหรือเดินทางได้ เป็นต้น ผลกระทบเหล่านี้เหมือนจะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่จะพบปัญหาการได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว แต่สามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ส่งผลให้เด็กมีภาวะเดินได้ช้า ไม่สามารถทรงตัวได้ และในกลุ่มวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-40 ปี ก็สามารถพบปัญหาการได้ยินและการทรงตัวได้เช่นกัน
ปัญหาการได้ยินส่วนมากเกิดจากภาวะประสาทหูเสื่อมตามวัย แต่บางรายเสื่อมเพราะพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ อย่างการใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงเสียงดังหรือการอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ก็เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาการได้ยินเช่นกัน ซึ่งเสียงปกติที่ควรได้ยินนั้นไม่ควรดังเกิน 80 เดซิเบล ในระยะเวลานานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ต่อวัน
การดูแลรักษาไม่ให้หูเสื่อมเร็ว
- จำกัดความดังของเสียง
- หลีกเลี่ยงเสียงดังหรือใส่อุปกรณ์ป้องกันหูเมื่ออยู่ในที่เสียงดัง
- ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานและงดสูบบุหรี่
- งดยาบางประเภทที่ส่งผลร้ายต่อหู
ระบบบริการสุขภาพดูแลทางการได้ยินและทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic)
คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) ภายใต้ศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว Hearing Speech and Balance Centre ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีการให้บริการทางการแพทย์รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินและทรงตัว ซึ่งนับเป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีความซับซ้อนของโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาศัยความรู้ความสามารถของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้บริการการรักษาการได้ยินและทรงตัวขั้นสูงในระดับสมอง พร้อมทั้งตรวจประเมินและแปลผลการได้ยินรวมทั้งการทรงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคลินิกและศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 8 อาคาร ส.ธ. ตึกผู้สูงอายุโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 256 4000 ต่อ 0
ที่มา: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์