COVID-19 ภัยคุกคามต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่การสู้รบ จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อรับมือ
เจนีวา (ICRC) – คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ระบุว่าการต่อสู้กับ COVID-19 ในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ความขัดแย้ง จะเกิดขึ้นมิได้เลยหากรัฐต่างๆ รวมทั้งองค์กรด้านมนุษยธรรมไม่ร่วมมือกันหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน การดำเนินการวางแผนป้องกันรวมถึงการรับมือกับเชื้อไวรัสจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทันทีก่อนที่มันจะแพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่การสู้รบต่าง ๆ
COVID-19 เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตผู้คนแม้ในประเทศที่มีระบบสุขภาพอันแข็งแกร่ง และภัยคุกคามดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงมากขึ้นในประเทศที่ระบบสุขภาพถูกสงครามบ่อนทำลาย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งอาศัยรวมกันอยู่อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำสะอาด สบู่ และยารักษาโรค
นอกจากนั้น ระบบสุขภาพที่ถูกสถานการณ์ความขัดแย้งทำให้อ่อนแอลงยังเป็นเหตุทำให้ศักยภาพของการตรวจหาเชื้อ การบริหารจัดการ และการติดตามผู้ป่วยลดลงตามไปด้วย นั่นยิ่งทำให้ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
“COVID-19 สร้างภาระอันหนักหน่วงให้กับระบบสุขภาพ สถานบริการสุขภาพหลายแห่งที่เราลงพื้นที่ปฏิบัติงานขาดแคลนแม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยหนัก แต่สิ่งที่เราหวาดกลัวที่สุดก็คือ หากไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ก็จะทำให้ชุมชนที่เปราะบางที่สุดในโลกถูกทำลาย” ปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กล่าว
ผู้ที่อยู่ในสถานคุมขังและค่ายผู้พลัดถิ่นทั่วโลก คือกลุ่มคนที่ ICRC เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน เนื่องจากระบบสุขภาพในพื้นที่ที่มีการสู้รบในประเทศต่าง ๆ เช่น ซีเรีย เยเมน ซูดานใต้ ไนจีเรียตะวันออก และอัฟกานิสถาน ต่างไม่พร้อมที่จะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยโรค COVID-19 อันล้นหลาม หากไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน
ประเทศต่างๆ และองค์กรด้านมนุษยธรรมจึงต้องพร้อมใจกันรับมืออย่างรวดเร็ว หากไม่ต้องการให้ COVID-19 กลายเป็นอีกหนึ่งหายนะภัยที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้กลุ่มองค์กรกาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศก็ได้ประกาศระดมทุน 800 ล้านฟรังก์สวิส เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เพิ่มทรัพยากรและความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มีขีดความสามารถจำกัดในการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เร่งด่วนนี้
การเว้นระยะห่างทางกายภาพในค่ายผู้พลัดถิ่นนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และ ICRC ก็หวั่นเกรงว่า จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้หลังเชื้อก้าวเท้าเข้าสู่ค่ายผู้พลัดถิ่นสักแห่ง ที่จริงแล้ว ICRC กลัวว่า ไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนทำให้การตอบสนองทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และการจำกัดการแพร่เชื้อก็จะทำได้ยาก เนื่องจากการติดตามและแยกกักผู้ต้องสงสัยติดเชื้อจะยากลำบากกว่าเดิมหากผู้คนต่างพากันหนีออกจากบ้านเพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ความรุนแรง เพราะไวรัสไม่ได้ทำให้สงครามยุติลง และผู้ประสบภัยจากการสู้รบยังคงต้องการและควรได้รับความช่วยเหลืออยู่
“งานของเราในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามยังคงมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าการรับมือกับไวรัสจะเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่กระจายไปทั่วโลกทำให้การทำงานของเรายากลำบากขึ้น ประเทศต่างๆพากันออกมาตรการเพื่อจำกัดการแพร่เชื้อ เช่น จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนและสินค้า ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัย รัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่การสู้รบ จะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินงานขององค์กรมนุษยธรรมเป็นอันดับต้นๆ เพราะสำหรับไวรัสแล้ว คำว่าพรมแดนไม่มีความหมาย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสถือเป็นปัญหาระดับโลก และจะแก้ไขได้ด้วยการลงมือปฏิบัติในระดับโลกเท่านั้น” เมาเรอร์กล่าว
ทั้งนี้ ICRC ได้จัดทิศทางการดำเนินกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือขององค์กรใหม่ เพื่อป้องกันและช่วยเหลือด้านการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกแม้ในขณะที่ยังคงดำเนินงานหลักต่อไปในเขตพื้นที่สงคราม โดย ICRC ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในแต่ละประเทศ รวมถึงสหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC)
การดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาของ ICRC มีดังนี้
ประเทศอัฟกานิสถานและเมียนมาร์ ICRC ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในเรือนจำและการหนุนเสริมระบบสุขภาพโดยมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม การตรวจหาเชื้อ และขั้นตอนการป้องกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ยังกำหนดแผนรับมือที่รวดเร็วและมีมาตรการกักแยกผู้ป่วย การปรับปรุงสุขอนามัย รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันเพื่อให้ความช่วยเหลือ
ประเทศอาร์เมเนีย ICRC บริจาคสบู่และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อให้แก่หน่วยแพทย์ของศูนย์กักกันภายในประเทศจำนวน 12 แห่ง และมอบเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดให้แก่สถานคุมขังจำนวน 4 แห่ง
ประเทศบูร์กินาฟาโซ จัดทำสปอตวิทยุเพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 นอกจากนี้ยังดำเนินการปรับปรุงระบบการเข้าถึงน้ำสะอาดและสบู่ในพื้นที่ประสบภัยจากสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการแจกจ่ายสบู่และเจลในสถานคุมขังด้วย
ประเทศโคลัมเบีย ICRC จะให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงห้องน้ำและจัดหาชุดสุขอนามัยให้แก่ศูนย์กักกันจำนวน 20 แห่ง เพื่อควบคุม COVID-19 ในช่วงสามเดือนข้างหน้า
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ช่วยโรงพยาบาลที่ ICRC ให้การสนับสนุนในการจัดทำมาตรการกักตัว ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพในการแยกกักตัวผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ และดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลและสถานคุมขังที่ ICRC เข้าเยี่ยม
ประเทศเอลซัลวาดอร์ ช่วยเหลือโดยแจกจ่ายสบู่ล้างมือให้แก่ผู้ถูกคุมขัง
กาซา ICRC บริจาคฟูกที่นอนจำนวน 500 หลัง และผ้าห่มจำนวน 1,000 ผืน ให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องกักตัว และยังบริจาคเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 43 เครื่อง เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ
ประเทศอิรัก บริจาคสบู่และยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ แว่นตาป้องกัน และเสื้อคลุม และเครื่องวัดอุณหภูมิให้แก่สถานคุมขัง 13 แห่ง ซึ่งมีผู้ถูกคุมขังจำนวน 22,000 คน และจะบริจาคสิ่งของและเครื่องมือดังกล่าว รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับล้างมือและฉีดพ่นคลอรีนให้แก่สถานคุมขังอีก 11 สถาบัน ซึ่งมีผู้ถูกคุมขัง 20,000 คน
ประเทศเม็กซิโก ICRC ร่วมกับสภากาชาดเม็กซิกันแจกจ่ายน้ำสะอาด ชุดสุขอนามัย และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจาย
ประเทศเลบานอน ICRC ทำงานร่วมกับแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Rafik Hariri ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วย COVID-19
ประเทศโซมาเลีย จัดหาเต็นท์สำหรับแยกกักผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลโมกาดิชู ซึ่ง ICRC ให้การสนับสนุนและนำระบบเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อมาใช้ในคลินิกหลายแห่งที่สภาเสี้ยววงเดือนแดงโซมาเลียให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังมอบชุดสุขอนามัยให้แก่สถานคุมขังและมอบสบู่ เม็ดคลอรีน และข้อมูลความรู้ด้านสุขอนามัยเกี่ยวกับ COVID-19 ให้แก่ครัวเรือนมากกว่า 120,000 ครัวเรือน
ประเทศซูดาน ซ่อมปั๊มสูบน้ำหลายสิบแห่งและแจกจ่ายสบู่ให้แก่ผู้พลัดถิ่นนับหมื่นคน รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐบาลในการจัดซื้อถุงมือ ชุดคลุม และยาฆ่าเชื้อ
ประเทศซีเรีย โรงพยาบาลภาคสนามของ ICRC ยังคงเปิดดำเนินการในค่ายอัลฮอลเหมือนที่ผ่านมา และทีมเจ้าหน้าที่ได้เริ่มนำมาตรการที่จำเป็นและป้องกันมาใช้ เพื่อปกป้องผู้ป่วยจาก COVID-19
(News Release : https://www.icrc.org/en/document/covid-19-urgent-action-needed-counter-major-threat-life-conflict-zones )