บ้านหมุนเกิดจากอะไร ?
อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน (Vertigo) เป็นอาการที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไปหรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ที่ตนเองอยู่กับที่ ซึ่งอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนนี้อาจส่งผลต่อการทรงตัวและทำให้ผู้ที่มีอาการ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ดี อาการนี้มีสาเหตุจากหลายโรคที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้ง ๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้
สำหรับโรคที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ได้แก่
1. โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (benign paroxysmal positioning vertigo: BPPV) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้ คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยินหรือเสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคหูอยู่ก่อนแล้ว) รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง โดยโรคนี้จะพบตะกอนแคลเซียมสะสมอยู่ในบริเวณอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะเกิดการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนแคลเซียมนี้ ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้เมื่อน้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหว จึงมีผลไปกระตุ้นอวัยวะการทรงตัว ทำให้เกิดการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้น
2. โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซหรือล้มได้ง่าย อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีการได้ยินลดลงและมีเสียงดังในหู บางครั้งอาจพบอาการหูอื้อได้ด้วย ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน
ข้อควรปฏิบัติสำหรับโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ
– รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่และถูกต้องตามหลักอนามัย
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด ควบคุมการบริโภคเกลือ น้ำปลา ไม่ให้มากเกินไป
– หลีกเลี่ยงกาแฟ ช็อกโกแลต และอาหารที่มีคาเฟอีน
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
– หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก ๆ เช่น ทำงานติดต่อกันนานเกินไปหรือออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป
– หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด
– ในรายที่เกิดอาการเวียนศีรษะทันทีโดยไม่มีอาการเตือน ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเสี่ยงอันตราย เช่น การขับขี่ยานพาหนะ การปีนป่ายที่สูง เป็นต้น
3. เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น
– การอักเสบของหูชั้นใน (labyrinthitis) พบจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงและเป็นอยู่หลายวัน แต่ผู้ป่วยมักมีการได้ยินที่ปกติ อาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหูน้ำหนวก แล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการมักรุนแรงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย
– โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน (acoustic neuroma) ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับการได้ยินลดลง บางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู สำหรับรายที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น อัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่น ๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดทับเนื้อสมอง
– โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (vestibular neuronitis) มักจะพบอาการเวียนศีรษะตามหลัง อาการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัดอยู่นานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ เมื่อไวรัสลุกลามเข้าในหูและเส้นประสาทการได้ยินจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรงนานหลายวันจนถึงสัปดาห์ แต่ไม่ส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ป่วยยังคงได้ยินเป็นปกติ
– กระดูกกะโหลกแตกหัก (temporal bone fracture)
– เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (vertebra-basilar insufficiency)
การดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นยังคงมีความสำคัญต่อการรักษาและการป้องกันการเกิดโรค ในผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนควรปฏิบัติตน ดังนี้
– หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็ว ๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มเงยคอหรือหันอย่างเต็มที่
– ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟ
– หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
– ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะยังมีอาการ การปีนป่ายที่สูง