::::: คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการบริจาคดวงตา :::::
ถาม
· ดวงตาที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
ตอบ
· ดวงตาที่จัดเก็บ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้
1. ส่วนกระจกตา (Cornea) ใช้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยกระจกตาพิการ เพื่อ
– เปลี่ยนกระจกตาที่ขุ่นให้ใส
– เปลี่ยนกระจกตาที่ไม่เรียบให้เรียบ
– รักษารูปร่างและรูปทรง ของกระจกตา
– รักษาโรคกระจกตาติดเชื้อที่ควบคุมด้วยยาไม่ได้
จักษุแพทย์ที่ผ่าตัดอาจจะใช้กระจกตาทั้งชั้นความหนาเปลี่ยนให้แก่ผู้ป่วย หรือ แบ่งชั้นกระจกตาเพื่อผ่าตัดซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่พิการ จะเห็นว่าดวงตาที่เราบริจาคนั้นสามารถนำไปใช้ช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อนที่สุด 2คน
2.ส่วนตาขาว (Sclera) ใช้ผ่าตัดตกแต่งเสริมเบ้าตาในผู้ป่วยที่ใส่ตาปลอม
3.ส่วนเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระจกตากับตาขาว (Limbal Tissue) เนื้อเยื่อบริเวณนี้มีสเตมเซลล์ หรือเซลล์แม่ของเซลล์ผิวกระจกตาที่สามารถนำไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำมารักษาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีผังผืดที่ผิวกระจกตา
ถาม
· สายตาสั้นและเอียงมาก บริจาคดวงตาได้หรือไม่
ตอบ
– ได้ ทุกๆคนสามารถบริจาคดวงตาได้ถึงแม้จะมีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ถ้ากระจกตายังใสเป็นปกติ ก็สามารถบริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าได้รับการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ เช่น Lasik , PRK ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อน
ถาม
· คุณแม่อายุ 80ปี เป็นต้อกระจกทำผ่าตัดไปแล้วต้องการบริจาคดวงตา สามารถบริจาคได้หรือไม่
ตอบ
§ ได้ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 2ปีขึ้นไปสามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น แต่ผู้ที่เป็นต้อกระจกหรือต้อหินได้รับการผ่าตัดตาหรือผู้ที่เคยได้รับการยิงเลเซอร์รักษาต้อหิน เบาหวานต้องได้รับการตรวจสอบดวงตาก่อนจะนำมาใช้
ถาม
· มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ บริจาคดวงตาได้หรือไม่
ตอบ
· ได้
· ผู้บริจาคดวงตาที่เสียชีวิตด้วยโรคต่อไปนี้ไม่สามารถนำดวงตามาใช้ประโยชน์ได้
1. ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
2. ตายจากโรคทางระบบประสาทที่ไม่ทราบสาเหตุ
3. เป็นโรคทางสมองบางชนิด
4. เป็นโรคสมองอักเสบบางชนิด
5. เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด
6. Reye’s syndrome
7. เป็นโรคสมองอักเสบจากไวรัสหรือสมองอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ
8. มีการติดเชี้อในกระแสเลือด
9. มีการอักเสบติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ
10. เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี
11. เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
12. มีโรคของลูกตา เช่น มะเร็งลูกตา หรือมีการอักเสบของตา
13. เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน เช่น
– ผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ เช่น Lasik , PRK **สามารถบริจาคได้ แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อน**
– ตาที่เคยได้รับการผ่าตัด เช่น ต้อกระจก ต้อหิน **สามารถนำมาใช้ได้หลังจากผ่านการตรวจนับเซลล์แล้ว**
– ตาที่เคยได้รับการยิงเลเซอร์รักษาต้อหิน เบาหวาน **สามารถนำมาใช้ได้ภายหลังจากได้รับการตรวจสอบแล้ว**
14. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
15. ติดเชื้อ HIV
ถาม
· บริจาคดวงตาควักเอาไปทั้งลูกหรือไม่ กลัวชาติหน้าเกิดมาตาโบ๋
ตอบ
· เจ้าหน้าที่จากศูนย์ดวงตาจะทำการจัดเก็บดวงตาทั้งดวงโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง และที่สำคัญจะทำด้วยความเคารพ สุดท้ายเมื่อจัดเก็บดวงตาแล้วผู้บริจาคจะเหมือนนอนหลับตาธรรมดา
· ความเชื่อเรื่องกลัวอวัยวะไม่ครบนั้นทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงทานบารมีว่ามี 3ขั้น คือ
1. ทานบารมีระดับสามัญ คือการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย ถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้
2. ทานอุปบารมี ได้แก่การเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ ซึ่งการบริจาคดวงตาจัดอยู่ในทานระดับนี้
3. ทานปรมัตถบารมี คือทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่การบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม
จะเห็นได้ว่าทางพุทธศาสนาไม่ได้มีข้อห้ามการบริจาคเลย การที่บริจาคเงินทองหรือเสื้อผ้าข้าวของทำไมจึงบริจาคได้โดยไม่กลัวว่าชาติหน้าจะขาดแคลน อีกทั้งการบริจาคดวงตานั้นเป็นทานขั้นสูงกว่าการบริจาคทรัพย์สินเสียด้วยซ้ำ
ถาม
· ถ้าต้องการบริจาคดวงตาติดต่อที่ไหน/ทำอย่างไรบ้าง
ตอบ
1. โทรศัพท์มายังศูนย์ดวงตา หมายเลข 02-2564039-40 ให้ข้อมูลผู้บริจาค ศูนย์ดวงตาจะจัดพิมพ์บัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาส่งไปให้
2. โทรศัพท์มายังศูนย์ดวงตาภาค 3หมายเลข 038-320200ต่อ 57ศูนย์ฯภาค 3จะประสานงานเพื่อจัดพิมพ์บัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาส่งไปให้
3. ขอรับใบแสดงความจำนงบริจาคดวงตา และยื่นใบแสดงความจำนงได้ตามสถานที่ต่อไปนี้
สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด หรือสำนักงานกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
สถานที่ออกหน่วยรับบริจาคดวงตา เช่น งานกาชาดประจำปี บริเวณอาคารใหม่ สวนอัมพร ,วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ทุก 3เดือน ฯลฯ
4. สมัครทางเวปไซด์ www.eyebankthai.com , www.redcross.or.th
ถาม
· เมื่อผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิตแล้ว ต้องให้ญาติติดต่อดำเนินการอย่างไรบ้าง
ตอบ
· ญาติโทรแจ้ง ศูนย์ดวงตา ที่ 081-9025938 , 081-8364927
หรือศูนย์ดวงตาภาค 3รพ.สมเด็จฯ 038-320200
· กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตในโรงพยาบาล แจ้งพยาบาลประจำตึกที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ดวงตาได้รับแจ้งแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บดวงตาทันทีภายในระยะเวลา6ชั่วโมงหลังจากผู้อุทิศดวงตาถึงแก่กรรม