อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ชีวิต (การจากไปที่ไม่เคยสูญสิ้น)
“อาจารย์ใหญ่” ในบริบทที่เรากำลังกล่าวถึงนั้น ไม่ได้หมายถึง คุณครูในโรงเรียน แต่สำหรับในทางวิชาชีพแพทย์ อาจารย์ใหญ่ คือ ผู้อุทิศสละร่างกายเป็นวิทยาทาน เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษากายวิภาคศาสตร์ และการฝึกผ่าตัดเฉพาะทางในภาคการฝึกปฎิบัติ อันจะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชี่ยวชาญและสามารถนำความรู้ที่เล่าเรียนมากลับมาให้บริการภาคสังคมต่อไป
สำหรับใครที่สนใจอยากบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไงและมีขั้นตอนใดบ้าง มาทราบขั้นตอนไปพร้อมๆ ได้เลย
ผู้ที่ต้องการบริจาคร่างกายต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ต้องบรรลุนิติภาวะมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรือในกรณีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสำเนาทะเบียนบ้านประกอบในการแสดงเจตจำนง
- ไม่เป็นโรคติดเชื้อ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ B และ C โรควัณโรคระยะติดต่อ โรคพิษสุนัขบ้า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(HIV)
- ไม่เป็นมะเร็งระยะลุกลามรุนแรง
- ไม่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความและมีการผ่าพิสูจน์
- ไม่ได้รับการฝังแร่ด้วยกัมมันตรังสีมาไม่เกิน 6 เดือน
- ไม่ได้รับการผ่าตัดอวัยวะสำคัญ ออกจากร่างกาย ในกรณีบริจาคดวงตาสามารถบริจาคร่างกายได้
- ต้องมีร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีความพิการของแขน ขา และอื่น ๆ
ซึ่งคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นนั้น อาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รับร่าง โดยผู้อุทิศร่างกาย เพื่อการศึกษา ควรแจ้งญาติทางสายเลือดหรือทายาทให้รับทราบร่วมกันถึงเจตจำนง
ขั้นตอนการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา
ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายสามารถยื่นความจำนงได้ 2 วิธี คือ
- ยื่นความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ https://anatomydonate.kcmh.or.th/
- ยื่นความจำนงโดยตรงที่ ชั้น1 อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยยื่นบัตรประชาชนเพื่อแสดงความจำนงโดยตรง ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อลงทะเบียนข้อมูลในระบบ พร้อมแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ หากบัตรอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาสูญหาย ก็ไม่ต้องกังวล ผู้บริจาคยังคงสามารถบริจาคร่างกายตามเจตจำนงเดิมได้ โดยที่ญาติทางสายเลือด หรือ ทายาท สามารถแจ้งกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในระบบของสภากาชาดไทยได้โดยตรง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการอุทิศร่างกาย
- ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-256- 4281 และ 02-256-4628 02-252-7028 ต่อ 0 หรือ 4
การส่งต่อร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ เป็นการช่วยต่อยอดและช่วยสนับสนุนการพัฒนาในอนาคตของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ ในการศึกษาและพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นับเป็นบุญกุศลอันใหญ่หลวงที่ท่านจะได้รับแม้จะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย