กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ระดมทุนกว่า 1 แสนล้านบาท
เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
เจนีวา– กลุ่มองค์กรกาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศประกาศระดมทุนจำนวน 3.1 พันล้านสวิสฟรังก์หรือกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับภารกิจขององค์กรในการหยุดยั้งการแพร่ะบาดของโรคโควิด-19 และ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่สุดในโลก ความร่วมมือนี้เป็นการต่อยอดจากการขอระดมทุนฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาโดยเป้าหมายสำคัญของการระดมทุนคือเพิ่มบริการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมที่ดำเนินอยู่โดยเน้นทั้งผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดและผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาทำให้ชีวิตของผู้คนได้รับผลกระทบ ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมขยายวงกว้างขึ้น ชุมชนเกิดความไม่มั่นคง และ ส่งผลต่อการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
Jagan Chapagain เลขาธิการสหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยวงวงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) กล่าวว่า “ในแง่มนุษยธรรม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดกลุ่มเปราะบางใหม่จากกลุ่มเดิมที่มีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว เรากำลังเผชิญกับวิกฤตทับซ้อนที่จะทำให้ปัญหาความยากจน ความปลอดภัยทางอาหาร สภาพเศรษฐกิจ การขาดแคลนระบบสาธารณสุข น้ำสะอาด และสุขอนามัยเลวร้ายลงกว่าเดิม”
“อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของกลุ่มองค์กรกาชาดได้ส่งมอบบริการที่ช่วยชีวิตผู้คนและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาด ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง และ สภาพสังคมเศรษฐกิจ การช่วยเหลือชุมชนและกลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องทำอย่างยั่งยืนและมีการประสานงานที่ดีของกลุ่มองค์กรกาชาดทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก”
ทั้งนี้ในกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศประกอบด้วย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และ สภากาชาดจาก 192 ประเทศทั่วโลกที่รวมถึงสภากาชาดไทย
โรเบิร์ต มาดินี่ ผู้อำนวยการของ ICRC กล่าวว่า “การแพร่ระบาดทำให้เกิดวิกฤตความต้องการที่จะต่อเนื่องยาวนานไม่ว่าจะเป็นการดูแลสภาพจิตใจ การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในพื้นที่ความขัดแย้ง หรือความช่วยเหลือต่อวิถีชีวิตของผู้คน ICRC ทำงานร่วมกับพันธมิตรในกลุ่มองค์กรกาชาดบนทางแยกของการแพร่ระบาด เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะให้การช่วยเหลือผู้คนที่กำลังเดือดร้อนและจะเดือดร้อนมากขึ้นในอนาคตอันเป็นผลจาการแพร่ระบาดครั้งนี้”
– ทั้งนี้ IFRC ได้ขอระดมทุนจำนวน 1.9 พันล้านสวิสฟรังก์ (62,700 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนงานของสภากาชาดและสภาเสี้ยวงวงเดือนแดงของแต่ละประเทศในการให้บริการด้านสุขภาพ น้ำสะอาดและสุขอนามัย รวมถึงจำกัดขอบเขตของผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมโดยเฉพาะกับคนกลุ่มเปราะบาง เงินทุนนี้จะถูกนำไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสภากาชาดแต่ละประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการส่งมอบความช่วยเหลือ และ ทำให้แน่ใจว่าอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จะได้รับการปกป้องและสนับสนุนการทำงานอย่างเหมาะสม จากเงินทั้งหมด 1.9 พันล้านสวิสฟรังก์ 450 ล้านสวิสฟรังก์ (14,850 ล้านบาท) จะจัดหาผ่านทางสำนักงานของ IFRC เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการทำงานของสภากาชาดแต่ละประเทศ
-สำหรับ ICRC ซึ่งขอระดมทุนจำนวน 1.2 พันล้านสวิสฟรังก์ (39,600 ล้านบาท) เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงในการสนับสนุนความช่วยเหลือหน่วยงานด้านการแพทย์และสถานคุมขัง จำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดและทำให้แน่ใจว่าคนพลัดถิ่นและผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการรักษา รวมถึงสนับสนุนการทำงานของสภากาชาดและสภาเสี้ยวงวงเดือนแดงของแต่ละประเทศในการทำงานในพื้นที่ ในจำนวนนี้ 366 ล้านสวิสฟรังก์ (12,078 ล้านบาท) จะนำไปใช้สนับสนุนการทำงานเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ อีก 828 ล้านสวิสฟรังก์ (27,324 ล้านบาท) จะถูกนำไปสนับสนุนกิจกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด ผู้คนต้องได้เข้าถึงน้ำสะอาด มีสุขอนามัยที่ดี ส่งเสริมการจัดการศพของผู้เสียชีวิตอย่างให้เกียรติและปลอดภัย รวมถึงให้ชุมชนเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นกับพวกเขาในสถานการณ์อันละเอียดอ่อนนี้
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเป็นต้นมา กลุ่มองค์กรรกาชาดได้ให้การสนับสนุนสภากาชาดแต่ละประเทศในการยกระดับบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงชุมชนและกิจการรับมือการแพร่ระบาดในกลุ่มเปราะบาง โดยสภากาชาดและสภาเสี้ยวงวงเดือนแดงของแต่ละประเทศได้ทำงานอย่างหนักในการช่วยเหลือด้านการสาธารณสุขและความต้องการด้านเศรษฐกิจสังคมในประเทศของตนเอง ขณะที่อาสาสมัครในด่านหน้าได้ทำงานในเชิงรุกเพื่อคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยพร้อมให้การรักษากับพวกเขาเหล่านั้น
กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เป็นเครือข่ายองค์กรด้านมนุษยธรรมใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีอาสาสมัครประจำอยู่ในพื้นที่และมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้เปราะบางที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ขาดแคลนระบบสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ผู้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ผู้อพยพและผู้พลัดถิ่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในตัวเมือง ผู้ถูกคุมขัง และผู้เดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์วิกฤตโควิด–19