โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CU-Cov19”
วันที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว จุฬาฯ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) ความคืบหน้าการพัฒนา และผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง เตรียมพร้อมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองประชาชนเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทางด้านศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็นับว่าสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกร่วมกันเดินหน้าพัฒนา วิจัย ต่อยอด การคิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CU-Cov19” ได้เผยข่าวดี ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี และจะเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป
ทางด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการพัฒนาวัคซีนนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ซึ่งวัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CU-Cov19 กระตุ้นเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลาสองสัปดาห์ พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูง นอกจากนี้ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน จากผลการทดสอบนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีนเพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผน ประมาณเดือน ตุลาคม-ธันวาคม นี้ต่อไป