วันที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มบริการโลหิต อวัยวะ และผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ เป็นประธานพิธีเปิดหน่วยรับบริจาคโลหิตบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) โดยจัดตั้งเป็นห้องรับบริจาคโลหิตประจำ หรือ Fixed Station แห่งใหม่ เพื่อเป็นการจัดหาโลหิตรูปแบบวิถีใหม่ ลดการแออัดของผู้บริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และเป็นหน่วยสนับสนุนในการรับบริจาคโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และนางทิพวรรณ เจนประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางซื่อ ณ บ้านเลขที่ 1423 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มบริการโลหิต อวัยวะ และผลิตภัณฑ์ชีววัตถุแผน กล่าวว่า งานบริการโลหิต จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2495 เพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอของสภากาชาดสากล และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่องานบริการโลหิตมาอย่างยาวนาน ดังพระราชดำรัส ทรงพระราชทานแก่ผู้บริจาคโลหิต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2507 ณ ศาลาผกาภิรมย์ พระราชวังดุสิต ดังนี้
“การบริจาคโลหิตเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ได้ช่วยให้คนรอดตายไว้ได้มาก
แม้มีเงินก็ช่วยอะไรไว้ไม่ได้ หากไม่มีคนใจกุศลเช่นนี้
การบริจาคโลหิตดูโดยเผินๆ ก็น่ากลัวอันตราย
แต่ที่จริงแล้วไม่มีอันตราย มีแต่ประโยชน์แก่ผู้ให้และผู้รับ
ให้ช่วยกันบริจาคโลหิตเป็นประจำไม่ใช่เพียงแต่บริจาคเฉพาะครั้งนี้”
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการวางรากฐานแห่งความสำเร็จด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์จัดหาผู้บริจาคโลหิต โดยเพิ่มช่องทางการรับบริจาคโลหิต เพื่อรองรับต่อความต้องการบริจาคโลหิตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดการเดินทางเข้ามาบริจาคที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยการจัดตั้งหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำ หรือ Fixed Station แห่งใหม่ ย่านวงศ์สว่าง ซึ่งเป็นสถานที่รับบริจาคโลหิตแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีลักษณะเป็นบ้านทรงไทย เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริจาคเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงเรื่องการบริจาคโลหิต เนื่องจากในปัจจุบัน โลหิตเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์จึงจำเป็นต้องมีการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วย และการบริจาคโลหิต เป็นการสละโลหิตส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยมีเกณฑ์กำหนดให้บริจาคโลหิต ได้ไม่เกินร้อยละ 10-12 ของปริมาณโลหิตในร่างกาย หรือปริมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซีซี) ซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของผู้บริจาค โดยการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิตได้มากกว่า 3 ส่วน ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนกลางในการจัดหาโลหิตบริจาคให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพ ปลอดภัยสูงสุดทั้งผู้ให้และผู้รับ ตามนโยบายหลักว่า “โลหิตทุกยูนิต ต้องได้รับจากการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิต ในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องจัดหาโลหิต จำนวน 760,000 ยูนิตต่อปี จากสถานการณ์การบริจาคโลหิตปัจจุบัน พบว่าปริมาณการจัดหาโลหิตยังไม่สม่ำเสมอ มีการขาดแคลนโลหิตบางช่วงเวลา และบางเดือน ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณโลหิตสำรองคงคลังไม่เพียงพอทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤติที่ต้องใช้โลหิต ในการรักษาอย่างเร่งด่วนจำนวนมาก โดยมีรูปแบบการจัดหาโลหิต ดังนี้
- รับบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์
- จัดหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ในหน่วยงานต่างๆ วันละ 12 ทีม
- จัดตั้งห้องรับบริจาคโลหิต (Fixed Station) ตามห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเดอะมอลล์ บางแค
การจัดตั้งหน่วยรับบริจาคโลหิตบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) เป็นการจัดหาโลหิตรูปแบบวิถีใหม่ เพื่อลดการแออัดของผู้บริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เป็นการกระจายผู้บริจาคโลหิตไปยังพื้นที่ที่ผู้บริจาคโลหิตสะดวกเป็นหน่วยสนับสนุนในการรับบริจาคโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย โดยเปิดรับบริจาคโลหิตทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. (ปิดทำการวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี) และสำรองโลหิตให้กับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลโรคทรวงอก ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี ด้วย
นางทิพวรรณ์ เจนประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางซื่อ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งหน่วยรับบริจาคโลหิตบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในเขตบางซื่อ ได้มีส่วนร่วมในการบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยการเป็น “ผู้ให้” ด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขอนามัยที่ดี นำไปสู่การเริ่มต้นเป็นผู้บริจาคโลหิต หรือหากเป็นผู้ที่เคยบริจาคโลหิตอยู่แล้ว สามารถเพิ่มความถี่การบริจาคอีก 1 ครั้ง และเป็นผู้บริจาคประจำทุก 3 เดือน ส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง
โดยได้รับการสนับสนุนจาก ครอบครัวเจริญศัสตรารักษ์ บริจาคที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 42 ตารางวา ตามความประสงค์ของบิดา (พันตรีชิน เจริญศัสตรารักษ์) และมารดา (นางทำเนาว์ สิงหเสนี) เพื่อสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานเขตบางซื่อ, กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย, สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น, โรงเรียนโยธินบูรณะ 2 (สุวรรณสุทธาราม) และชุมชนในเขตบางซื่อ 50 ชุมชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิต
ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน และเป็นผู้บริจาคประจำทุก 3 เดือน ส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ทำให้ได้รับโลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอจ่ายสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดภาวะการขาดแคลนโลหิต