ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ขอเชิญชวนบริจาคโลหิตในภาวะวิกฤติ COVID-19 ช่วยผู้ป่วยโรคเลือด กว่า 5 แสนราย ทั่วประเทศ เพราะยังมีผู้ป่วยต้องใช้โลหิตเป็นประจำทุกเดือน
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 2 ขณะนี้ การดำเนินงานบริการโลหิต ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป ไม่สามารถหยุดการรับบริจาคโลหิตได้ เนื่องจากโลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่สำคัญ ซึ่งต้องได้มาจากการบริจาคเท่านั้น และต้องการใช้ทุกวัน หากขาดโลหิตจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย จำเป็นที่ต้องใช้โลหิตในการรักษาเป็นประจำ ซึ่งในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยประสบปัญหาในการรอรับโลหิต หรือบางรายต้องเลื่อนการรับโลหิตออกไป นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร ฯลฯ ที่มีการเสียโลหิตในปริมาณมาก ต้องให้โลหิตทดแทนอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเลือกเวลาได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ตาม
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดารินทร์ ซอโสตถิกุล สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง เกิดจากการถ่ายทอดพันธุกรรมจากพ่อและแม่ ที่เป็นพาหะหรือมียีนแฝงของโรคธาลัสซีเมีย ประมาณ 25 ล้านคน ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคนี้สูงถึง 8 แสนราย และมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันตามชนิดของโรค ผู้ป่วยชนิดรุนแรงกว่า 5 แสนราย จำเป็นต้องได้รับโลหิตทุก 3-4 สัปดาห์ เฉลี่ยครั้งละ 1-2 ยูนิต (ถุง) ในการรักษาเพื่อเพิ่มระดับฮีโมโกลบินให้ใกล้เคียงปกติ หากไม่ได้รับโลหิต ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในประจำวัน
ขอวอนผู้ที่มีสุขภาพดี ร่วมบริจาคโลหิต ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคเลือดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ – 12 มีนาคม 2564 ผู้บริจาคโลหิตจะได้รับสายคล้องหน้ากาก “Give Blood Save Lives” แทนคำขอบคุณจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยสายคล้องหน้ากากผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษมีคุณค่า เป็น Limited Edition ไม่มีจำหน่าย สามารถนำไปใช้งานได้กับหน้ากากทุกชนิด
ในส่วนกลาง บริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค), เดอะมอลล์ บางแค, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม, บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต 6 แห่งในกรุงเทพฯ
ส่วนภูมิภาค บริจาคโลหิตได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี, ชลบุรี, ราชบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครสวรรค์, พิษณุโลก, เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง), สงขลา ภูเก็ต และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ
-
ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงตามความเป็นจริง หากไม่แน่ใจควรงดการบริจาคโลหิตชั่วคราว เพื่อเว้นระยะเวลาการพบเชื้อ 4 สัปดาห์
-
ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เดินทางมาบริจาคโลหิต