วันที่ 8 เมษายน 2564 สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ สาขาวิชาโลหิตวิทยา, สาขาวิชาระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าว การรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรม ที่ได้พัฒนานวัตกรรมการบริการ รวมทั้งการรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบันและในอนาคต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย ได้มีตัวอย่างผลงานจากเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มากมาย เช่น การสร้างแผ่นกระจกตาจากสเต็มเซลล์โดยวิธีใหม่ รวมทั้งการสร้างสเต็มเซลล์พหุศักยภาพจากเซลล์เลือดผู้ป่วยโรคพันธุกรรมธาลัสซีเมีย และกลุ่มอาการ Wiskott-Aldrich และแก้ไขยีนจนสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดปกติได้ รวมถึงการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ด้วยหุ่นยนต์สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
โดยในวันนี้ได้มีอีกผลงานที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ซึ่งสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมมือกับ สาขาโลหิตวิทยา สาขาวิชาระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ร่วมกันรักษาพยาบาลผู้ป่วย จำนวน 2 ราย ที่มีปัญหาผิวหนังแข็งและปอดเป็นพังผืด (systemic sclerosis with interstitial lung disease) ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอาองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัยรวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทางด้าน ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงฝ่าย “อายุรศาสตร์” ว่า เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับโรคที่พบได้บ่อย และการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การวินิจฉัย การรักษาโรคโดยใช้ยาเป็นหลัก และวิธีการที่ไม่ใช่การผ่าตัด ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และยังเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสอนฝึกอบรมแพทยศาสตรบัณฑิต และแพทย์เฉพาะทาง แนวทางสำคัญของการให้บริการทางการแพทย์ของฝ่ายวิชาอายุรศาสตร์ ในช่วงที่ผ่านมาคือ การพัฒนางานด้านอายุรศาสตร์โดยให้การดูแลแบบองค์รวมที่มีความก้าวหน้าในด้านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงมีความปลอดภัย รวมทั้งยังมุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ “การให้การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืดด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” ซึ่งริเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความภาคภูมิใจ และถือได้ว่าเป็นการให้การรักษาที่มีความทันสมัย โดยเกิดจากความร่วมมือกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาจนประสบผลสำเร็จซึ่งเชื่อว่าความรู้จากการรักษาที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลให้เกิดการต่อยอด และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคตสำหรับประเทศไทย
ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า โรคผิวหนังแข็ง หรือ systemic sclerosis เป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของหลายอวัยวะในร่างกาย โดยมีลักษณะเด่น คือ การเกิดพังผืดที่ผิวหนังและอวัยวะภายในทำให้ผิวหนังแข็ง ปอดเป็นพังผืด กล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ทำให้หัวใจโต และหัวใจวายได้ กล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหารเป็นพังผืด ทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ลดลงหรือไม่บีบตัว ร่วมกับอาการจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือด ที่ไตทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ หลอดเลือดแดงที่ปอดตีบตัน ทำให้แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง มีผลต่อการบีบตัวของหัวใจทำให้หัวใจวายได้ การดำเนินของโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเรื้อรัง ทุกข์ทรมาน แต่ก็มีบางส่วนที่มีการดำเนินของโรครวดเร็ว รุนแรง ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นได้
โรคผิวหนังแข็งพบได้ไม่บ่อย ความชุกประมาณ 4 ถึง 35 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 เท่า อายุเฉลี่ยขณะเริ่มมีอาการ 40-50 ปี ส่วนใหญ่พบในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ คือ ภาวะปอดเป็นพังผืด แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงและหัวใจวาย การรักษาโรคนี้ควรจะเริ่มให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอการดำเนินของโรคและความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย โดยประเมินว่าโรคมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วรุนแรงหรือค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการที่อวัยวะใดบ้างที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
โดยยาที่รักษาโรคนี้จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ตามกลไกการเกิดโรคนี้ ได้แก่ 1. ยาขยายหลอดเลือดแดง 2. ยาปรับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และ 3. ยาที่ช่วยชะลอหรือลดการเกิดพังผืด ซึ่งมักจะใช้ร่วมกันเพื่อควบคุมการดำเนินโรค อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้จะได้ผลในผู้ป่วยที่มีอาการค่อยเป็นค่อยไป แต่ในผู้ป่วยที่มีการดำเนินโรครวดเร็ว การรักษาด้วยการจัดระบบภูมิคุ้มกันใหม่ให้ทำงานเป็นปกติ จะช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดการทำลายอวัยวะ หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรได้ วิธีที่จะจัดระเบียบของระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาเป็นปกติ คือ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ นั่นเอง
ในขณะที่ ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากระบบเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดพังผืดขึ้นในอวัยวะต่างๆ ขึ้น การรักษาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด จึงเป็นการมุ่งหวังที่จะกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเหล่านี้ให้หมดไป และทำการจัดระบบภูมิคุ้มกันใหม่ให้กลับมาทำงานกลับเป็นปกติ การรักษาดังกล่าวโดยปกติจะไม่สามารถทำได้โดยใช้ยากดภูมิต้านทานในขนาดปกติ การที่จะกำจัดเซลล์ภูมิต้านทานที่ผิดปกติให้หมดไป จำเป็นต้องใช้ยาในขนาดสูงร่วมไปกับแอนติบอดี้ แล้วตามด้วยการให้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองที่เราเก็บไว้ในระหว่างการรักษา สเต็มเซลล์ของระบบเลือดจะมาช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น รวมไปถึงการสร้างและพัฒนาเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ปกติขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือเป็นการรักษาโดยวิธีการจัดระเบียบของระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาเป็นปกติโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ขั้นตอนแรกเป็นการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมในการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักมีอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานน้อยลงจากการอักเสบหรือเป็นพังผืด เช่น ปอด เป็นต้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ ควรมีการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่เพียงพอที่จะรับยาในระหว่างการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้ ขั้นตอนถัดไปเป็นขั้นตอนการเก็บสเต็มเซลล์แช่แข็งไว้ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิต้านทานในขนาดสูงและแอนติบอดี้ แล้วตามด้วยการนำสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยที่เก็บไว้แล้วมาให้ผู้ป่วย ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะอยู่ในห้องปลอดเชื้อและได้รับการดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ หลังจากที่สเต็มเซลล์เริ่มทำงานผู้ป่วยก็จะมีภูมิต้านทานที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับจนเป็นปกติและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ เพื่อดูผลของการรักษาด้วยวิธีการจัดระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติโดยการใช้สเต็มเซลล์ โดยหวังว่าการรักษาด้วยวิธีนี้
จะช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดการทำลายอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้นและยืนนานขึ้น
รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหนังแข็งที่มีพังผืดในปอด ส่วนมากมักพบการอักเสบของปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการไอแห้งๆ หายใจได้ครั้งละตื้นๆ ทำให้ต้องหายใจในอัตราที่เร็วกว่าคนปกติ เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลง การดำเนินโรคของพังผืดในปอดในผู้ป่วยโรคหนังแข็งแต่ละรายมีความแตกต่างกันและไม่แน่นอน กล่าวคือ อาจเกิดการอักเสบเป็นพังผืดแล้วหยุดนิ่งไม่ลุกลามต่อ หรือเป็นลักษณะที่มีพังผืดลุกลามอย่างรวดเร็วก็ได้ ซึ่งลักษณะหลังนี้มักพบในผู้ป่วยโรคหนังแข็งที่มีอาการมาไม่นาน ผู้ป่วยบางราย อาจพบภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงร่วมด้วย ทำให้เกิดหัวใจห้องล่างขวาวายตามมาได้ ขณะที่โรคดำเนินไปอาจมีการกำเริบของปอดอักเสบจากพังผืด หรือการติดเชื้อในปอดซ้ำเติม ทำให้หน้าที่การทำงานของปอดแย่ลงอย่างรวดเร็ว มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงมาก ในรายที่รุนแรงจนต้องใส่ครื่องช่วยหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตที่สูง
หลังจากการตรวจร่างกายโดยละเอียด ในรายที่สงสัยจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมโดย การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยพังผืดในปอดได้ดีมาก เมื่อพบพังผืดในปอดการติดตามเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งการติดตามอาการของผู้ป่วย อาการไอ อาการเหนื่อย การประเมินโดยการวัดความจุปอด การตรวจโดยการเดิน 6 นาที การประเมินภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำขณะออกกำลังหรือไม่ โดยทำการตรวจเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน หรืออาจเร็วกว่านั้นหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงชัดเจน ตลอดจนการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำ เหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถบอกได้ว่าพังผืดในปอดมีลักษณะการดำเนินโรครวดเร็วแค่ไหน มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งการประเมินด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำต่อเนื่องหลังการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ต่อไปด้วย
อ.นพ.จักกพัฒน์ วนิชานันท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ หน่วยโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในกระบวนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นั้น ภาวะติดเชื้อถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ซึ่งอาจทำให้ได้ผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์หรือแม้กระทั่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันที่มีขนาดสูง และจะเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในช่วงแรกภายหลังการปลูกถ่าย จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อฉวยโอกาส ดังนั้น การเตรียมผู้ป่วยโดยการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ และการคัดกรองการติดเชื้อแฝงตั้งแต่ก่อนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รวมถึงการให้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกัน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลดโอกาสในการติดเชื้อดังกล่าว
สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีความผิดปกติของปอด เมื่อมาทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้แก่ การติดเชื้อปอดอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียดื้อยา รวมถึงเชื้อรา เนื่องจากจะทำให้ระบบการหายใจที่มีปัญหาอยู่แล้วแย่ลง ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะหายใจล้มเหลวในระยะเริ่มต้น และทำให้สมรรถภาพของปอดถดถอยลงในระยะยาว ดังนั้น การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดภายหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และการเริ่มยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็จะช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยได้