ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วอนคนไทยสุขภาพดี ช่วยบริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน สถานการณ์การระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้โลหิตขาดแคลนหนัก วิกฤติทั่วประเทศ
รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การบริจาคโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง มีความต้องการใช้โลหิตวันละ 6,500 – 7,000 ยูนิต ปัจจุบันปริมาณโลหิตบริจาคทั่วประเทศ ได้เพียงวันละ 2,000 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมากทุกแห่ง หน่วยงานยกเลิกการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต พนักงานหลายองค์กรต้องทำงานที่บ้าน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดหรือมีการกักตัว โรงพยาบาลทุกแห่งขาดเลือด ไม่มีโลหิตเพียงพอในการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด อาทิ โรคธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การชะลอและเลื่อนการรักษาด้วยโลหิต อาจส่งผลอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้
ขอให้ผู้บริจาคโลหิตเชื่อมั่นในการทำงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ผู้ทำหน้าที่จัดหาโลหิตบริจาคที่ปลอดภัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยยกระดับ มาตรการ 3 ข้อ “คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม” ดังนี้
- คัดกรอง สำหรับผู้บริจาคโลหิต ขอให้คัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต เช่น หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นขึ้น เดินทางไปยังสถานบันเทิง ตลาด สถานที่แออัด พื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย/ ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ต้องงดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 14 วัน
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สามารถบริจาคโลหิตได้ ดังนี้
- กรณีฉีดวัคซีน Sinovac เว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
- กรณีฉีดวัคซีน Astrazeneca และ Johnson & Johnson เว้น 4 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
- หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้รอหลังหายดีแล้ว เว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
- เข้มงวด บุคลากรมีความตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทุกคนในพื้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีแอลกอฮอล์เจลล้างมือทุกจุดสัมผัส สถานที่และอุปกรณ์สะอาดปลอดเชื้อ จัดให้มี การเว้นระยะห่าง และจัดตั้งฉากกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคโลหิตทุกจุดของกระบวนการบริจาคโลหิต
- ครอบคลุม โดยมาตรการทั้งหมดครอบคลุมทั้งที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ตามมาตรฐานสากล
สถานที่รับบริจาคโลหิต (ส่วนกลาง) | สถานที่รับบริจาคโลหิต (ส่วนภูมิภาค) | |
· ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย | ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง ได้แก่ | |
· หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ 6 แห่ง ได้แก่
สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) เดอะมอลล์ บางแค เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม |
· ภาคฯ จ.ลพบุรี
· ภาคฯ จ.ราชบุรี · ภาคฯจ.ขอนแก่น · ภาคฯจ.นครสวรรค์ · ภาคฯ จ.เชียงใหม่ · ภาคฯ จ.ภูเก็ต |
· ภาคฯ จ.ชลบุรี
· ภาคฯ จ.นครราชสีมา · ภาคฯ จ.อุบลราชธานี · ภาคฯ จ.พิษณุโลก · ภาคฯ จ.สงขลา · ภาคฯ จ.นครศรีธรรมราช |
โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต 6 แห่ง
· โรงพยาบาลตำรวจ |
||
· โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช | · โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ | |
· โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
· โรงพยาบาลรามาธิบดี · โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช · สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า |
ขอความร่วมมือ
- ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงตามความเป็นจริง หากไม่แน่ใจ ควรงดการบริจาคโลหิตชั่วคราว เพื่อเว้นระยะเวลาการพบเชื้อ 14 วัน
- ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เดินทางมาบริจาคโลหิต และตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่รับบริจาค
ประกาศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564
สอบถามโทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600 – 99 ต่อ 1760