สภากาชาดไทยเคียงข้างประชาชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกช่วงเวลา
ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย
“เมื่อประมาณ 27 ปีที่แล้ว เราเป็นเพียงเด็กจบใหม่คนหนึ่งที่ได้เข้ามาทำงานที่ฝ่ายบรรเทาทุกข์ ตอนนั้นเรายังไม่ค่อยรู้อะไรมาก ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2550 เพื่อให้การทำงานไม่ทับซ้อนกัน จึงเริ่มมีการแบ่งงานออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ และฝ่ายบริการทางการแพทย์ มีการจัดระบบการจัดการภัยพิบัติออกเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย เริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมองค์กรและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ ให้ความรู้อาสาสมัครและประชาชนในพื้นที่ ประเมินความเสียหายและความต้องการเบื้องต้น รวมไปถึงการฟื้นฟูในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการศึกษา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากความขัดแย้ง ช่วยเหลือฟื้นฟูด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่ผู้ประสบภัย
ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สภากาชาดไทยถือเป็นหน่วยงานเสริมภาครัฐ ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ปัญหาที่พบบ่อยจึงเป็นเรื่องของการประสานงาน ดังนั้น เราจึงต้องพูดคุยกับหน่วยงานในพื้นที่ว่าเขามีปัญหาอะไร ลำบากใจหรือไม่ถ้าเราจะลงไปช่วยเหลือ เราต้องยึดคติ I am OK. You are OK. เพราะเราไม่ได้อยากโดดเด่นเกินใคร แต่เราอยากเดินไปพร้อมๆ กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มความสามารถ
ในการทำงานทุกอย่างย่อมเกิดปัญหาเสมอ แต่เราไม่เคยรู้สึกเบื่อ หรือไม่อยากไปทำงานเลยสักครั้ง เพราะเราเชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ ดังนั้น เมื่อเราเจอปัญหาให้วิ่งเข้าใส่ เพราะสิ่งที่ได้หลังจากนั้นจะเป็นประสบการณ์ของเรา
แรงบันดาลใจในการทำงานของเราคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งสามพระองค์ทรงงานหนักทุกวันโดยไม่มีวันหยุด นั่นทำให้เราอยากไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่กลัวความยากลำบาก เราภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ ไม่มีใครหรอกที่ได้ทำบุญทุกวันแบบเรา แม้บางวันเราอาจไมได้ทำในทางตรง เป็นเพียงผู้ประสานงานคนหนึ่ง แต่เราก็ได้เป็นสะพานบุญ และผลแห่งบุญนั้นก็ตกอยู่กับผู้ประสบภัยที่กำลังเดือดร้อน เวลาที่เราไปปฏิบัติงาน แค่เราเห็นคนยิ้มเราก็มีความสุข เรารู้สึกดีใจที่ทำให้คนที่เขาเดือดร้อนกลับมามีรอยยิ้มได้ หัวเราะได้ คำพูดของชาวบ้านที่บอกว่า ดีใจที่ยังมีหน่วยงานที่คิดถึงเขาอยู่ เติมแรงใจให้กับเราได้จริงๆ
เรื่องราวประทับใจในการทำงานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยคือความใสซื่อ ความจริงใจ และความน่ารักของชาวบ้าน เรามักจะบอกชาวบ้านเสมอว่าถุงนี้เป็นถุงพระราชทาน ขอให้ทุกคนอธิษฐานจิตถึงพระองค์ท่าน ชาวบ้านก็จะยกมือท่วมหัว ทำปากขมุบขมิบขอพรกันใหญ่ และด้วยความที่ทำงานมานาน เราก็รู้ว่าชาวบ้านจะเอาถุงพระราชทานไปเก็บไว้บนหิ้งบูชาแน่ๆ เราจึงต้องย้ำเสมอว่าถุงพระราชทานนี้ ไม่ได้ให้เอาไปเก็บไว้เฉยๆ ให้เอาของข้างในออกมากินมาใช้ ถ้าจะเก็บไปบูชาก็เก็บไว้แต่ถุงพอแล้ว
สุดท้ายเราอยากให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่า เราต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงสำหรับทุกเรื่องในชีวิต และพยายามลดความเสี่ยงนั้น โดยเราต้องรู้จักวางแผน เริ่มที่ตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และแผ่ขยายไปถึงระดับสังคม ถ้าเราทุกคนมีความตระหนักในเรื่องนี้ มีการเตรียมตัว เตรียมพร้อมอย่างดี แม้เราจะได้รับผลกระทบอะไรก็ตาม เราก็จะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
เรื่องเล่า…จากบรรเทาทุกข์
สุกัญญา ทรัพย์อุดมมั่งมี
พยาบาล 7 หัวหน้างานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย
#เรื่องเล่าจากบรรเทาทุกข์ #สภากาชาดไทย