ฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ปฏิบัติงานอย่างครบวงจร ประกอบด้วย การเจรจาขอรับบริจาคดวงตา การจัดเก็บดวงตา และการจัดสรรให้จักษุแพทย์เพื่อนำไปใช้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยกระจกตาพิการ โดยมีหน้าที่หลักในการประสานงานกับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด โรงพยาบาลเครือข่าย และผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดกระจกตา
ในขั้นแรกผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิรักษาก่อน หากจักษุแพทย์เห็นว่าเป็นโรคกระจกตาพิการและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาก็จะทำการจองในระบบ โดยศูนย์ดวงตาฯ เป็นศูนย์กลางในการรับขึ้นทะเบียนจองดวงตาแพทย์ทั่วประเทศ รวมถึงการจัดเรียงลำดับคิวการจองก่อน-หลัง ด้วยระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ศูนย์ดวงตาฯ จัดลำดับดวงตาด้วยความเท่าเทียมและยุติธรรม ใช้หลักการเบื้องต้นในการเรียงลำดับคิวคือ ใครจองก่อน ได้ก่อน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมของคนไข้” เป็นสำคัญ และความพร้อมของแพทย์ด้วย ดังนั้นหากคนไข้คิวที่ 1 ยังไม่พร้อมแต่คิวที่ 2 พร้อม คนไข้คิวที่ 2 จะได้รับการผ่าตัดก่อน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาจากอาการของโรค โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มเร่งด่วน และกลุ่มที่รอได้
หลังจากผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิต ญาติของผู้บริจาคดวงตาควรโทรแจ้งศูนย์ดวงตาทันที เพราะภายหลังเสียชีวิตดวงตาจะเริ่มเสื่อมสภาพและเน่าเปื่อย ดังนั้นเพื่อให้ได้ดวงตาที่มีสภาพดีที่สุด จึงต้องรีบจัดเก็บดวงตาภายใน 6-8 ชั่วโมง เมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิต แพทย์จะทำการตรวจประเมินโรคต้องห้าม เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บเบื้องต้น ตรวจประเมินสภาพตาว่าเหมาะสมหรือไม่ จากนั้นจึงจะจัดเก็บดวงตาเพื่อส่งมอบให้ศูนย์ดวงตาฯ ทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อผลการตรวจผ่านจะทำการตัดแยกกระจกตา แช่น้ำยา ซึ่งเป็นการรักษาสภาพกระจกตาให้อยู่ได้นานถึง 14 วัน เพื่อรอการเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศตามลำดับคิวการจอง
“อยากเชิญชวนทุกคนบริจาคดวงตา เพราะว่ายังมีคนไข้โรคกระจกตกพิการที่สามารถรักษาให้หายและกลับมามองเห็นได้ ที่รอคิวอยู่ถึงหมื่นกว่าราย ถ้าเราทุกคนช่วยกัน นอกจากจะรักษาตัวคนไข้แล้ว ยังเป็นการรักษาครอบครัวของคนไข้อีกด้วย เพราะบางคนเป็นผู้นำครอบครัว ถ้าผู้นำครอบครัวสามารถประกอบอาชีพที่สุจริตได้ ก็จะให้ครอบครัว สังคม และประเทศชาติดีขึ้นไปด้วย”
นางนิศา เจียมอยู่
หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย