ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพสเต็มเซลล์ แถลงข่าวจัดกิจกรรม “Stem Cells Virtual Run – วิ่งต่อชีวิต…ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2562 ชวนผู้สนใจวิ่งสะสมระยะทางให้ได้ 2 ล้านกิโลเมตร เท่ากับ 2 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 25 กันยายน 2562 เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้จัดตั้งโครงการธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ (Thai National Stem Cell Donor Registry) ตั้งแต่ปี 2544 โดยแพทยสภา ได้ประกาศเป็นข้อบังคับว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ในราชกิจจานุเบกษากำหนด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 โดยมอบให้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วย และตรวจคัดกรองเนื้อเยื่อ HLA ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้มากขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน มีผู้บริจาคโลหิตที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ จำนวน 241,238 ราย แต่มีผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยไปแล้ว 321 ราย และมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรอการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จำนวน 1,941 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่พบผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อ HLA ตรงกันแล้ว แต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อราย ทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา
เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก ปี 2562 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพงานสเต็มเซลล์ และสถาบันหลัก 5 แห่งของประเทศ ที่ดำเนินการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรม Stem Cells Virtual Run – วิ่งต่อชีวิต …ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ภายใต้แนวคิด “ทุกการวิ่ง 2 ล้านกิโลเมตร = 2 ล้านบาท” เพื่อจัดหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการพัฒนาศักยภาพงานสเต็มเซลล์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพสเต็มเซลล์ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากสถาบันหลัก 5 แห่งของประเทศ ที่ดำเนินการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วย และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ จัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จัดทำแผนการพัฒนาธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำในด้านวิชาการ การจัดหา และการจัดเก็บสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วย ตลอดจนกำกับดูแล และติดตามการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยคนไทยได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติเพิ่มจำนวนมากขึ้น
นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสามารถจัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่หลังจากเข้าสู่กระบวนการตรวจเนื้อเยื่อ HLA ของผู้ป่วยและผู้บริจาคแล้วพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการรักษา ถึงแม้จะพบผู้บริจาคที่มี HLA ตรงกันแล้วก็ตาม สาเหตุสำคัญ คือ ผู้ป่วยขาดทุนทรัพย์ในการรักษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดตั้งโครงการ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติให้มีโอกาสรักษา โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ร่วมกับ สปสช. ผลการดำเนินงานโครงการจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้ ผู้ปวยได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยใช้ทุนสนับสนุนจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติที่รับงบประมาณไว้ มีจำนวน 10 ราย และรอการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จำนวน 4 ราย ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันทำบุญช่วยเหลือ จึงขอเชิญชวนนักวิ่งสายบุญ ร่วมวิ่งเพื่อระดมจัดหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ กิจกรรมวิ่งดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
- รูปแบบการวิ่ง ประเภท Virtual Run วิ่งที่ไหน
วิ่งเมื่อไรก็ได้ ความท้าทายของกิจกรรม คือ การร่วมใจกันวิ่งเพื่อสะสมระยะทาง ให้ได้ 2 ล้านกิโลเมตร เท่ากับ 2 ล้านบาท ระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วย
ผู้สนใจร่วมทำบุญ สามารถทำได้ 3 วิธี
- วิธีที่ 1 ลงทะเบียนวิ่งสะสมระยะทาง
ค่าสมัคร 500 บาท จะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ หลังจากส่งผลวิ่ง และนักวิ่งสายแข็งที่วิ่งครบระยะ 200 กิโลเมตร 100 ท่านแรก จะได้รับ “ผ้าบัฟ” เป็นที่ระลึก
– สมัครร่วมกิจกรรมวิ่ง ได้ตั้งแต่วันนี้ – 25 กันยายน 2562 และส่งผลการวิ่ง ได้ที่เว็บไซต์ ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง https://race.thai.run/
ปิดรับผลการวิ่ง วันที่ 25 กันยายน 2562 เวลา 24.00 น. และจัดส่งเสื้อและเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2562 เป็นต้นไป
- วิธีที่ 2 สนับสนุนซื้อเสื้อวิ่ง ราคา 300 บาท
ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาดที่ 11 (วิเศษนิยม) บางแค และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และงานบริการโลหิต รวม 13 แห่ง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- วิธีที่ 3 ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ สามารถบริจาคเงินได้ 2 วิธี
1. ชื่อบัญชี “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 045-304694-8
2. ตู้บริจาคเงิน ตั้งอยู่ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ และได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ตั้งตู้บริจาคที่ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลทั่วกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สปอตโทรทัศน์ “วิ่งต่อชีวิต ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” โดยได้รับเกียรติจาก คุณทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ศิลปินนักแสดง และนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพรีเซ็นเตอร์เชิญชวนร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กำหนดจัดงาน “วันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2562” ในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถ.อังรีดูนังต์ ซึ่งจะมีพิธีปิดกิจกรรมวิ่ง พร้อมทั้งมอบโล่และเหรียญรางวัลให้แก่นักวิ่งสายแข็งที่เก็บระยะได้มากที่สุด 10 อันดับแรก เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิต และลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600 – 99 ต่อ 1101, 1753, 1761 และ 1771