วันที่ 28 กันยายน 2562 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดงานวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2562 เพื่อขอบคุณอาสาสมัครและผู้บริจาคสเต็มเซลล์กว่า 32 ล้านคนทั่วโลกที่ได้มอบชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วย และเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคสเต็มเซลล์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ได้แก่ การรับบริจาคโลหิตและลงทะเบียนอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ การเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “โรคเลือด หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาโลหิตวิทยา การจัดแสดงนิทรรศการชุด “กำเนิดวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก จากใจผู้รับ…ถึงคู่แท้สเต็มเซลล์” รวมถึงบูธเกม และการแสดงจากศิลปิน ดารา นักร้อง และในโอกาสนี้ จึงได้มอบเหรียญ โล่รางวัลและใบประกาศ แก่นักวิ่ง ในโครงการ Stem Cells Virtual Run – วิ่งต่อชีวิต…ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ที่เก็บระยะสะสมได้มากที่สุด 3 ท่าน ได้แก่ คุณปัญญวีร์ ชัยยะศิริสุวรรณ ระยะทาง 1,311.84 กิโลเมตร คุณณกิตติชัย สนิท ระยะทาง 900.29 กิโลเมตร คุณสมพงษ์ พันธุ์ชัย ระยะทาง 859.25 กิโลเมตร
นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า การจัดงานวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก กำหนดจัดขึ้นโดยองค์กร World Marrow Donor Association (WMDA) ให้วันเสาร์ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปีเป็นวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก (World Marrow Donor Day) โดยในประเทศไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากแพทยสภาให้จัดตั้ง “ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดแห่งชาติ” เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทะเบียนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 และปัจจุบันมีอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์จำนวน 244,540 ราย ผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้ผู้ป่วย จำนวน 335 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากถึง 1,994 ราย อาทิ ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูกฝ่อ ดังนั้น หากมีอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์มากขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยอีกด้วย
การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์จะต้องดำเนินการพร้อมการบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ เท่านั้น โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้
– เป็นผู้บริจาคโลหิต
– อายุระหว่าง 18 ปีบริบูรณ์ -50ปี
– เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
– ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ