วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 น. ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา Communities Make The Difference เพื่อยุติการตีตราและเลือกปฎิบัติในการให้บริการด้านเอชไอวีต่อชุมชนหญิงข้ามเพศ โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โปรดให้ หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์มอบช่อดอกไม้แก่ เปีย อะลอนโซ วูร์ทซบาค นางงามจักรวาลปี 2558 ซึ่งดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ด้วย ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
จากข้อมูลทั่วโลกของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติในปี 2559 หญิงข้ามเพศจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบอย่างสูงจากเอชไอวี ในประเทศไทยมีรายงานว่าการให้บริการสุขภาพยังขาดความละเอียดอ่อนต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังมีทัศนคติเชิงลบในเรื่องเอชไอวีและต่อตัวผู้มารับบริการที่เป็นคนข้ามเพศ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงความสำเร็จว่า คลินิกคนข้ามเพศ ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ประสบความสำเร็จในการให้บริการตรวจเอชไอวีและสุขภาพทางเพศอื่นๆ แก่คนข้ามเพศกว่า 3,000 คน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และมีองค์กรจากนานาประเทศในภูมิภาคเข้ามาขอรับการสนับสนุนทางด้านวิชาการเพื่อยกระดับการทำงานกับคนข้ามเพศ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงานเสวนาว่า กระทรวงสาธารณสุขจะทำงานกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชน ในการส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงบริการเอชไอวีและสุขภาพต่างๆ ของคนข้ามเพศ และเน้นย้ำในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นมิตร โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาล
ในเวทีเสวนายังมีแขกรับเชิญ คือ เปีย อะลอนโซ วูร์ทซบาค นางงามจักรวาลปี 2558 ซึ่งดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยได้รับบทบาทในการสร้างความตระหนักเรื่องเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่น เธอได้กล่าวว่า “ทุกๆฝ่ายควรมีส่วนร่วมในการยุติปัญหาการเลือกปฎิบัติต่อ คนข้ามเพศในสถานพยาบาลไปด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพียงชุมชนคนข้ามเพศเท่านั้นที่จะเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อน แต่ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้ โดยเริ่มยุติการตีตราจากตัวเอง และควรมีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการให้บริการทางสุขภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจ”
นอกจากนี้ คุณโม จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ปี 2559 และคุณซาริน่า ไทย นางแบบข้ามเพศ ได้เรียกร้องให้มีการรับรองสถานะของคนข้ามเพศ รวมไปถึงกฎหมายการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ที่ปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ ทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติในทุกมิติ รวมไปถึงสิทธิในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ด้านหมอเอ้ก หรือ นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนา ได้กล่าวสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการยุติปัญหาการตีตราและเลือกปฎิบัติต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และให้การสนับสนุนการรณรงค์โดยเฉพาะในเรื่องนี้เสมอมา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน