วันที่ 24 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการจัดโครงการ “Plus 1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต” (Plus One Blood Donation, More Blood More Lives) เป็นโครงการหลักประจำปี 2563 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของโลหิตด้วยการเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาคโลหิต ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย และศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยศิลปิน ดารา ร่วมรณรงค์เชิญชวนบริจาคโลหิตในโครงการ ณ ห้องจุมภฏ ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า การบริการโลหิต เป็นภารกิจประการหนึ่งที่สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ทำหน้าที่จัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่มีคุณภาพปลอดภัยและเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดหาโลหิตในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และโรงพยาบาลของรัฐ 6 แห่ง เป็นสาขาบริการโลหิต ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในส่วนภูมิภาค ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ทั่วประเทศรวม 13 แห่ง ดำเนินงานบริการโลหิตครบวงจรเป็นมาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และมีโรงพยาบาลของรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีฐานะเป็นสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ ทั้งหมดจำนวน 160 แห่ง โดยมี เหล่ากาชาดจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่ประสานงานจัดหาโลหิตในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย กล่าวว่า โลหิต เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องมีการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วย และการบริจาคโลหิต เป็นการสละโลหิตส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยมีเกณฑ์กำหนดให้บริจาคโลหิตได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโลหิตในร่างกาย หรือปริมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซีซี) ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพของผู้บริจาค เมื่อบริจาคโลหิตแล้วไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน หากไม่ได้บริจาคโลหิตเมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุ จะถูกกำจัดออกไปโดยกลไกของร่างกาย โดยการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ได้มากกว่า 3 ส่วน ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- ร้อยละ 77 ใช้กับผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น
- ร้อยละ 23 ใช้กับผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องรักษาด้วยการรับโลหิตต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากสาเหตุอื่น ๆ โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด หรือ โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น
ถึงแม้ว่าแต่ละปี จะมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้นปีละ 8 – 10% จึงต้องจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิต และประชาชนทั่วไป ให้เริ่มต้นบริจาคโลหิตและบริจาคอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน ดังนั้น คณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ให้บรรลุเป้าหมายในการจัดหาโลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ป่วยทั่วประเทศ ตลอดจน ส่งเสริมการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก
ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีภารกิจหลักในการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ทั่วประเทศ โดยการจัดหาโลหิตในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- สภากาชาดไทย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จัดหาโลหิต 42%
- สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ จัดหาโลหิต 58%
ในปี 2561 จัดหาโลหิตได้รวมทั้งประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,649,216 ยูนิต
อย่างไรก็ตาม พบว่าปริมาณโลหิตสำรองยังไม่สม่ำเสมอ มีการขาดแคลนโลหิตบางช่วงเวลา และบางเดือน ดังนั้น การรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิตใหม่ และคงไว้ซึ่งผู้บริจาคเก่าให้บริจาคซ้ำปีละ 2 – 4 ครั้ง จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง การบริจาคโลหิต สามารถบริจาคได้ปีละ 4 ครั้ง และไม่เป็นอันตรายกับผู้บริจาค และจากสถิติความถี่การบริจาคโลหิต ทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศในปี 2561
- ผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง จำนวน 1,034,688 คน ร้อยละ 68.49
- ผู้บริจาคโลหิตปีละ 2 ครั้ง จำนวน 277,299 คน ร้อยละ 18.36
- ผู้บริจาคโลหิตปีละ 3 ครั้ง จำนวน 131,275 คน ร้อยละ 8.69
- ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง จำนวน 61,710 คน ร้อยละ 4.06
- ผู้บริจาคโลหิตมากกว่าปีละ 4 ครั้ง จำนวน 12,038 คน ร้อยละ 0.04
จากสถิติการบริจาคโลหิตดังกล่าว จะเห็นว่า กลุ่มผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้งมีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่เคยบริจาคโลหิตอยู่แล้ว สามารถเพิ่มความถี่เป็นอีก 1 ครั้งได้ จะส่งผลต่อปริมาณโลหิตสำรอง และเพียงพอใช้ทั้งในยามปกติ และในกรณีเร่งด่วน
โอกาสนี้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานรับมอบโปสเตอร์ จากหน่วยงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ,ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริจาคเห็นความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องการบริจาคโลหิตด้วยการเพิ่มจำนวนการบริจาคอีกคนละ 1 ครั้งต่อปีเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป