โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

สภากาชาดไทย สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร

เมื่อวันที่ 18 ม.ค 2564 นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี โดยได้ทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการฯ ดังนี้ 1.การคัดเลือกครูอาสาสอนหนังสือ/ภาษาไทยตามโครงการแก่เด็กนักเรียนและเยาวชนตามเป้าหมายพบว่าการใช้ครูอาสาหรือบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ที่ว่างเว้นจากการสอนหนังสือตามปกติหรือการรับสมัครให้ครู/อาจารย์ที่เกษียณราชการหรือบุคคลที่มีความรู้ด้านการสอนหนังสือและมีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการมาสอนเสริมแก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจะสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพเพราะทั้งครูอาสาและนักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลจากที่พักสามารถนัดสถานที่และเวลาสอนเสริมได้สะดวกไม่เสียเวลาและไม่เสียค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณมากนัก 2.เพื่อให้การกำหนดหลักสูตรและวิธีการสอนเสริมภาษาไทยให้สอดคล้องสภาพปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ภาษาไทยของนักเรียนนั้น สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดมีข้อแนะนำว่าควรจัดนักเรียนเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 2.1 กลุ่มเด็กนักเรียนจากครอบครัวกลุ่มชาติพันธ์ุที่ใช้ภาษาชนเผ่าติดต่อสื่อสารกันในครอบครัวเกือบตลอด 24 ชั่วโมงประกอบกับมีภูมิลำเนาครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารไม่มีไฟฟ้าและไม่มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จึงไม่ได้ยินเสียงภาษาไทยจากสื่อทีวีหรือวิทยุทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันและการสื่อสารในครอบครัวก็ใช้ภาษาชนชาติพันธุ์ตนเองเท่านั้น นักเรียนกลุ่มนี้มีโอกาสใช้ภาษาไทยได้เมื่อมาโรงเรียนเท่านั้น 2.2 กลุ่มนักเรียนเป้าหมายที่มีวัฒนธรรมและการใช้ภาษาตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่แตกต่างจากนักเรียนทั่วไป เช่น นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เมื่อกลับไปบ้านหรือภูมิลำเนาของตนเองจะสื่อสารกับบุคคลในครอบครัวด้วยภาษามาลายูเดิมรวมทั้งบางครอบครัวอาจไม่สามารถมาเรียนหนังสือได้สม่ำเสมอเพราะต้องช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน แต่นักเรียนเหล่านี้ยังมีโอกาสได้ใช้และได้ฟังภาษาไทยจากสื่อภาษาไทยต่าง ๆ รวมทั้งในชุมชนข้างเคียงเมื่อกลับไปบ้านหรือภูมิลำเนามากกว่านักเรียนกลุ่มแรก 2.3 กลุ่มนักเรียนไทยทั่วไปที่ไม่สามารถใช้ภาษาไทยทั้งการอ่านและเขียนนั้น อาจเกิดจากมีปัญหาครอบครัวยากจนรายได้ไม่เพียงพอต้องขาดการเรียนไปช่วยผู้ปกครองทำงานทำให้ไม่มีเวลาเรียนได้เต็มตามหลักสูตรหรือมีปัญหาด้านการพัฒนาการทางการเรียนรู้ (LD) เป็นต้น นายกฤษฎา บุญราช กล่าวว่าจะนำผลการติดตามการดำเนินงานของโครงการฯที่จังหวัดนราธิวาสไปแนะนำเหล่ากาชาดจังหวัดต่างๆในการรับสมัครครูอาสาสอนเสริมภาษาไทยและปรับวิธีการ รวมทั้งเทคนิคการถ่ายทอดการใช้ภาษาไทยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของนักเรียนตามกลุ่มปัญหาต่างๆรวมทั้งจะเน้นให้เหล่ากาชาดจังหวัดคัดเลือกครูอาสาจากกลุ่มบุคคลในพื้นที่ก่อน เช่น กลุ่มครูที่เกษียณหรือบุคคลที่มีคุณวุฒิด้านการสอนและมีเวลาว่างพร้อมเป็นครูอาสาร่วมสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการข้างต้น สำหรับสถานที่และเวลาการสอนเสริมให้เหล่ากาชาดประสานงานกับครูใหญ่หรือผู้บริหารสถานศึกษาของนักเรียนเป้าหมายรวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตต่างๆ/สำนักงาน กศน./สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/มหาวิทยาลัยในพื้นที่/หน่วยงาน ตชด. ตลอดจนภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่างๆที่อาสาสมัครมาร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนกับสภากาชาดไทย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชมรมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นต้น…

ภัยหนาวอำนาจเริญ

มอบเครื่องกันหนาวสภากาชาดไทยแก่ผู้ประสบภัยหนาว จ.อำนาจเจริญ

วันที่ 12 มกราคม 2564  สภากาชาดไทย โดยเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ มอบผ้าห่มนวม จำนวน 300 ผืน ผ้าห่ม Polyester  จำนวน 800 ผืน เสื้อกันหนาวผู้ใหญ่ จำนวน 200 ตัว และเสื้อกันหนาวเด็ก จำนวน 100 ตัว ตามที่ร้องขอผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ให้แก่นายอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลืออำนาจ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอพนา อำเภอชานุมาน อำเภอหัวตะพาน อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอเมือง เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญต่อไป