โรคเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome)
ปัญหาการนอนหลับผิดปกติในเด็กทารกที่พบมากที่สุด คือ ภาวะการหยุดหายใจ โดยแนะนำให้สังเกตอาการโรคจากการหลับในทารกว่าทารกที่เป็นมักจะหายใจแผ่ว หากหายใจแผ่วบ่อยหรือหยุดหายใจ มีอาการตัวเขียว หายใจเสียงดัง ถือว่าเป็นอาการผิดปกติ ต้องนำทารกไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ
วิธีการสังเกตทารก คือ หากหายใจเสียงดังทั้งขณะหลับ ขณะตื่น หรือขณะดื่มนม ทารกรายนี้อาจมีปัญหาการนอนหลับผิดปกติ และหากน้ำหนักของทารกไม่ขึ้นตามเกณฑ์ที่สมควร มีอาการดูดนมสำลักบ่อยหรืออาเจียน หรือในรายที่อาการรุนแรง อาจพบอาการตัวเขียว ริมฝีปากคล้ำ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
ปัจจัยเสี่ยงของโรคจากการหลับในทารก ได้แก่
- ทารกคลอดก่อนกำหนด ภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดโรคจากการหลับ มักมีสมองและร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ควบคุมการหายใจไม่ดีตามไปด้วย
- ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทารกบางรายอาจมีความผิดปกติ เช่น ฝาปิดกล่องเสียงอ่อนตัว ซึ่งจะนำไปสู่อาการหายใจเสียงดังและทารกมีอาการตัวเขียวได้
- มลพิษทางอากาศหรือเหตุจากควันบุหรี่ หากทารกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศสูง เช่น ฝุ่นควัน หรือควันบุหรี่ ก็จะมีภาวะเสี่ยงกับโรคมากขึ้น
เมื่อทารกที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคจากการหลับในทารก แพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยวัดออกซิเจนขณะเด็กนอนหลับ ถ้าผลออกซิเจนโดยรวมน้อยกว่ามาตรฐาน จะวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป ที่ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีอุปกรณ์ในการช่วยวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดูว่าสมองทำงานอย่างไร เกี่ยวข้องกับการหยุดหายใจหรือไม่ สาเหตุของการนอนไม่หลับมาจากอะไร และวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดคืออะไร
พ่อแม่ควรฝึกให้ทารกนอนได้ด้วยตนเอง อาจจะนอนบนเปลหรือบนเตียง ทารกควรเรียนรู้ที่จะหลับด้วยตนเองและควรฝึกให้ทารกหลับเช่นนี้ตั้งแต่แรกคลอดให้ทารกสามารถหลับโดยไม่ต้องกล่อม อุ้มแนบตัว หรือทำกิจกรรมอื่นที่อาจขัดการนอนหลับ นอกจากนี้ ยังควรฝึกกิจวัตรการนอนและสิ่งแวดล้อมการนอนที่ดีให้แก่ทารก และลูกน้อย เช่น
– ตั้งเวลาการนอนที่เป็นกิจวัตรให้ลูกนอนเป็นเวลา เพื่อให้เรียนรู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้วและสามารถหลับตามเวลาที่เขาคุ้นเคยได้
– ให้ลูกน้อยนอนให้เพียงพอ เพื่อให้ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตในเด็กทำงานได้เต็มที่
– ห้องหรือมุมที่เด็กนอน ควรอยู่ในที่ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวน
เรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับของทารก
- ลูกร้องโยเยแปลว่าหิวนม
ความจริงแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายไม่ได้ตระหนักว่ามีโรคจากการหลับในทารก จึงไม่รู้ว่าทารกของตนมีปัญหา ส่วนมากมักคิดว่าทารกงอแงไม่ยอมนอน ร้องเก่ง หรือติดพ่อแม่ต้องให้อุ้มแนบตัวตลอดเวลาเท่านั้น ความจริงคือ ทารกที่ร้องงอแง อาจมีปัญหาการหายใจติดขัดก็ได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของลูกน้อย
- นอนคว่ำ หัวเด็กจะได้ทุย
ความจริงแล้ว ผู้ปกครองชาวไทยนิยมให้ทารกนอนคว่ำ โดยมีความเชื่อว่าศีรษะของเด็กจะได้ทุยสวย แต่มีการวิจัยจากต่างประเทศสำรวจพบว่าการนอนคว่ำของทารกเสี่ยงต่อโรคเสียชีวิตเฉียบพลันในทารก
- นอนด้วยกันพ่อแม่ลูกดูอบอุ่น
ความจริงแล้ว มีกรณีทารกเสียชีวิต เพราะพ่อแม่นอนทับจนเด็กหายใจไม่ออกหลายรายแล้ว คำแนะนำ คือ ในช่วงทารกอายุ 4-5 เดือนแรก เด็กยังไม่สามารถชันคอหรือช่วยเหลือตนเองได้ดี ควรแยกทารกให้นอนเตียงต่างหากจะดีกว่า
- ที่นอนนิ่มลูกจะหลับสบาย
ความจริงแล้ว หมอน ผ้าห่ม ที่มีลักษณะนิ่ม อาจไม่เกี่ยวกับโรคเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารกโดยตรง แต่สิ่งของเหล่านี้อาจจะทำให้ไปอุดทางเดินหายใจของทารกได้
ที่มา: วารสาร ฬ.จุฬา