เมื่อกล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร บ่อยครั้งเราจะคิดถึงการพัฒนาทักษะการส่งสาร (Sending skill) หรือการปรับวิธีการพูด การส่งข้อความ ให้น่าฟัง น่าเชื่อถือ และน่าดึงดูดใจ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ส่งสาร ตัวสาร และช่องทางการสื่อสาร ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่จะส่งผลให้สื่อสารมีคุณภาพ เพิ่มโอกาสที่การสื่อสารจะประสบความสำเร็จได้สูง อย่างไรก็ดี การสื่อสารนั้นมีด้วยกันสองฝ่าย คือฝ่ายผู้ส่งสารและผู้รับสาร และหากผู้รับสารไม่รับและไม่รู้ด้วย ก็มีโอกาสที่การสื่อสารนั้นจะล้มเหลวได้
การฟังในการสนทนากันมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ผ่านไปครั้งเดียว แต่สามารถส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกระหว่างกันได้มากเพราะมักรับรู้ถึงปฏิกิริยาของคู่สนทนาได้เดี๋ยวนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราควรจะพัฒนาทักษะการฟัง หากประสงค์ให้การสื่อสารมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และเกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันด้วย ก่อนที่จะเสนอว่าการฟังที่ดีเป็นอย่างไร เรามาตรวจสอบระดับการฟังที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเสียก่อนโดยสามารถแบ่งระดับการฟังได้ 5 ระดับ ได้แก่
1.ไม่สนใจ — ทำเหมือนผู้พูดกำลังพูดกับกำแพง
2.แกล้งฟัง — พยักหน้า ไม่ได้ตั้งใจฟังจริง
3.เลือกฟัง — เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากฟัง
4.ตั้งใจฟัง — ฟังด้วยหู อยู่กับปัจจุบัน ได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ได้ฟัง
5.ฟังด้วยใจ — ฟังด้วยหู ด้วยตา และด้วยใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้พูด คิดตามอย่างมีสติ ไม่ตัดสิน อยู่กับปัจจุบัน
การตั้งใจฟังและการฟังด้วยใจ หรือบางที่เรียกว่า การฟังเชิงรุก (Active Listening) นั้นเป็นลักษณะการฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ ทำความเข้าใจสารที่ส่งมา ให้เกิดการสื่อสารสองทางมีส่วนร่วมกับผู้พูด โดยใช้คำถามกระตุ้นสิ่งที่เป็นความคิดสาเหตุของความทุกข์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยการใช้คำถามปลายเปิดช่วยให้ผู้เล่าได้ระบายในสิ่งที่ต้องการจะพูด ในขณะเดียวกันเราจะส่งสัญญาณให้พวกเขาทราบว่าเราได้รับและเข้าใจสารที่พวกเขาส่งมาแล้ว
การฟังแบบ Active Listening ประกอบไปด้วยหลักการ 3A คือ
- Attitude (ทัศนคติ)
การยอมเปิดใจรับฟังโดยปราศจากอคติ ถ้าเริ่มต้นมาด้วยการมีอคติในใจ อย่างเช่น ไม่ชอบสิ่งนี้อยู่แล้ว หรือคิดมาก่อนแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ก็จะทำให้ไม่สามารถรับฟังเรื่องราวทั้งหมดจนจบได้อย่างเข้าใจจริงๆ
- Attention (ความสนใจ)
ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด รอฟังเหตุผลและเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมดของอีกฝ่ายให้จบ ก่อนนำมาคิดและวิเคราะห์ตามโดยไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นใหญ่
- Adjustment (การปรับตัว)
หลังจากรับฟังเรื่องราวทุกอย่างแล้ว ควรมีการปรับอารมณ์และความคิดให้เหมาะสม ในการเลือกคำแนะนำวิธีการตอบกลับหรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ผ่านการพิจารณาจากการประเมินและไตรตรองจากสิ่งที่ได้รับฟัง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ หรือการปรับเปลี่ยนตามมา
หากต้องการใครสักคนรับฟังมาพูดคุยกันได้ที่ ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการหอผู้ป่วยจิตเวชขึ้นเป็นแห่งแรก ของโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากร ทางด้านจิตเวชศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ให้บริการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิต ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการรับปรึกษาจากแผนกต่าง ๆ บริการสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพจิตแก่หน่วยงานภายในและภายนอก กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ จากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักอาชีวบำบัด นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์
การให้บริการ
- วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 15.30 น. อาคาร ภปร ชั้น 12
- คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 16.30 – 20.00 น. วันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 08.30 – 12.00 น. อาคาร ภปร ชั้น 12
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
- ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ (สำนักงานฝ่ายจิตเวชศาสตร์) อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 15
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน 02 256 4000 ต่อ 61506 – 61514
- หน่วยบริการผู้ป่วยนอก OPD (จิตเวชทั่วไป) อาคาร ภปร ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน 02 256 5180 , 02 256 5182
ท้ายที่สุดนี้ การเป็นผู้ฟังที่ดี ความจริงใจต่อคู่สนทนาเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือคล้อยตามในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงความเป็นจริง เพียงแต่ให้รอจังหวะในการแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม หรือเสนอข้อมูลอีกด้านอย่างเคารพต่อจุดยืนหรือความรู้สึกของกันและกัน สิ่งที่จะช่วยได้คือการวางตนและคู่สนทนาให้อยู่ฝ่ายเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ตรงข้ามกัน หลักยึดเช่นนี้จะทำให้เราไม่รีบร้อนที่จะคัดค้านหรือหักล้างอีกฝ่ายจนลืมที่จะรับฟังและพยายามทำความเข้าใจมุมมองของผู้พูดไป ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการฟังด้วยใจนั่นเอง
ที่มา: คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , Mission To The Moon