กลุ่มองค์กรกาชาดฯ เชิญชวนองค์กรด้านมนุษยธรรมทั่วโลกร่วมลงนามกฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรม (Climate and Environment Charter for Humanitarian Organizations) ซึ่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ร่วมกันนำเสนอเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กฎบัตรฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อผนึกกำลังระหว่างหน่วยงาน ร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนกว่า 97.6 ล้านคนทั่วโลก (โดยเฉพาะผู้คนที่เผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบอยู่แล้ว)
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษยธรรม และเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาคส่วนมนุษยธรรมต้องให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกรวมถึงเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ เข้าใจระดับภัยคุกคามนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เราจึงมีงานอีกมากที่ต้องเร่งลงมือทำเพื่อลดภัยอันตรายที่ชุมชนต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ เพื่อช่วยชุมชนดังกล่าวสร้างความเข้มแข็งและปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และเพื่อให้องค์กรมนุษยธรรมร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” นายจากัน ชาปาเกน เลขาธิการ IFRC กล่าว
พันธสัญญาเจ็ดประการของกฎบัตรฉบับนี้ได้แก่
- เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและช่วยเหลือกลุ่มคนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- ทำให้งานด้านมนุษยธรรมมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว
- ให้ผู้นำท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วยการให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์
- เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและคิดค้นหนทางแก้ไขปัญหาโดยอ้างอิงจากหลักฐาน
- ทำงานร่วมกันทั้งในภาคส่วนงานด้านมนุษยธรรมและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- โน้มน้าวให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและมีเป้าหมายที่สูงขึ้นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
- กำหนดเป้าหมายและวัดผลความคืบหน้าของการดำเนินการควบคู่กับการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ได้
ปัจจุบัน วิกฤติสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในทุกมิติ ทั้งทางด้านร่างกายไปจนถึงสภาพจิตใจ อาหาร น้ำ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และแม้ว่าวิกฤตนี้จะส่งผลต่อทุกคน แต่กลุ่มคนยากจนและชุมชนเปราะบางเป็นกลุ่มคนทีได้รับผลกระทบมากกว่าใคร
“เราต้องเร่งมือดำเนินการ และในฐานะประชาคมมนุษยธรรมนั้น เรามีหน้าที่ต้องร่วมกันเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม เราต้องร่วมมือกันหากเราต้องการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนที่สุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุด” นายโรเบิร์ต มาร์ดินิ ผู้อำนวยการ ICRC กล่าว
ข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดย IFRC พบว่า จำนวนประชากรทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศในช่วงปี 2562 มีมากถึง 97.6 ล้านคน ดังนั้น การคุ้มครองชีวิตและสิทธิของผู้คนในยุคปัจจุบันและอนาคตจึงขึ้นอยู่กับการดำเนินการทางการเมืองที่จะต้องผลักดันให้มีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปรับตัวรับมือกับอันตรายที่เพิ่มขึ้น
“วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมทั่วโลก เราต้องเร่งดำเนินการและเพิ่มความพยายามในการรับมือกับความท้าทายนี้ ในที่ประชุมสมัชชาทั่วไปครั้งที่ 18 ของสภาหน่วยงานอาสาสมัครนานาชาติ (International Council of Voluntary Agencies) เราได้ร่วมกันลงนามในกฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรม เราจึงขอเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานร่วมลงนามและดำเนินการร่วมกัน เพราะการร่วมแรงร่วมใจกันจะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด” อิกนาซิโอ แพคเกอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ ICVA กล่าว
กลุ่มองค์กรกาชาดฯ ตั้งเป้ารวบรวมรายชื่อให้สำเสร็จก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาอันเข้มแข็งของประชาคมมนุษยธรรมในการยกระดับการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ
กฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรมจัดทำขึ้นเพื่อประชาคมมนุษยธรรม โดยประชาคมมนุษยธรรม ได้แก่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และมนุษยธรรม ร่วมกันสนับสนุนจัดทำกฎบัตรฉบับนี้ แนวทางการจัดทำมาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ วัตถุประสงค์ของความตกลงตกลงปารีส กรอบการดำเนินงาน Sendai เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ กฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสิ่งแวดล้อม