สภากาชาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุก สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของคนในประเทศ ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เยี่ยมหน่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุก สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยมีนางวรรณฤดี กิจเจริญรุ่งโรจน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตาก ร่วมกับนายกันต์พงษ์ พิพัฒมนตรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอท่าสองยางและหัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบจากพม่าบ้านแม่หละ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่ International Rescue Committee (IRC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการดำเนินงานตามโครงการให้บริการฉีดวัคซีนครั้งนี้ด้วย
ซึ่งความร่วมมือในการปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก เป็นการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรม ช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ เดือดร้อน และไร้โอกาส ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วน ต้องระดมความร่วมมือกันให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งคนไทย ประชากรข้ามชาติ หรือกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่เจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 และมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนฯ ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ซิโนฟาร์ม) ซึ่งสภากาชาดไทยได้มอบหมายสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ นำไปฉีดให้แก่กลุ่มเปราะบาง ทั้งคนไทย และประชากรข้ามชาติ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ศาสนา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดความรุนแรงในการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วใน 3 จังหวัด คือ พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยให้บริการฉีดวัคซีนฯ ไปแล้ว จำนวน 8,619 โดส
สำหรับการปฏิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก ให้แก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ปฏิบัติงาน ฉีดวัคซีนฯ เข็มที่ 1 ในวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้รับบริการฉีดวัคซีนฯ จำนวน 677 คน อันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสภากาชาดไทย กระทรวงมหาดไทย จังหวัดตาก โรงพยาบาลท่าสองยาง IRC โดยการสนับสนุนจาก IFRC ICRC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสนับสนุนการใช้สัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TrueMove H) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 31 ลำปาง (กสทช. เขต 31 ลำปาง) โดยมีกำหนดการปฏิบัติงานฉีดวัคซีนฯ เข็มที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งการปฏิบัติงานครั้งนี้ ได้มีการนำระบบบริการฉีดวัคซีนฯ ที่มีการบันทึกข้อมูลของผู้ฉีดวัคซีนฯ ด้วยระบบเทคโนโลยีแบบ Face Verification และ Iris recognition ที่ได้รับการพัฒนาโดย NECTEC และ iRespond พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข (Moph IC) เพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งใช้วิธีกำหนดรหัสประจำตัวบุคคลด้วยการขึ้นต้นด้วยตัวอักษร 1 ตัว ตามด้วยหมายเลข 13 หลักเป็นการชั่วคราวให้กับผู้รับวัคซีนฯ ทั้งนี้ ในโอกาสต่อไป เมื่อสภากาชาดไทยสามารถจัดหาวัคซีนหรือได้รับบริจาควัคซีนจากองค์กรต่างๆได้มากขึ้นก็จะขยายการฉีดวัคซีนไปยังประชากรกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศไทยต่อไป