โครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น
เป็นโครงการที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ใช้เงินงบประมาณ
แต่จะใช้เงินบริจาคเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
“ผมทำงานที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ มา 20 ปีแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะเข้าเป็นอาจารย์ที่หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่สุดท้ายก็ได้มาทำที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ พอได้มาทำงานจริงก็มีความรู้สึกว่าช่วยคนได้มากในหลายมิติไม่ใช่เฉพาะการผ่าตัดรักษาโรค แต่สามารถขยายบทบาทไปยังโครงการที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในระดับประเทศ”
“1 ในโครงการของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ คือโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น ซึ่งเริ่มต้นตั้งปี พ.ศ.2541 แรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้คือ 1. ปากแหว่ง-เพดานโหว่เป็นความพิการบนใบหน้าที่พบมากที่สุดในบรรดาความพิการแต่กำเนิดบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และ 2. เนื่องจากอยู่บนใบหน้าจึงเห็นเด่นชัดมาก ซ่อนไม่ได้ บางคนถึงแม้จะเป็นเพดานโหว่แต่พูดออกมาเสียงไม่ชัดคนก็รู้อยู่ดี เพราะฉะนั้นมันเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ไม่เฉพาะเรื่องโรคภัยทางร่างกายแต่มันเป็นความทุกข์ทรมานด้านจิตใจและเป็นปมด้อยสำหรับเด็ก ทำให้เด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่(ที่โดยทั่วไปมีสติปัญญาเป็นปกติ)แต่เพราะปมด้อยนี้จึงทำให้พัฒนาการช้าทั้งด้านการเรียนรู้ ด้านการเข้าสังคม นอกจากนี้พ่อแม่ก็ลำบากมาก พอมีลูกปากแหว่ง-เพดานโหว่ ต้องทุ่มเทเวลาให้กับลูกมากกว่าปกติเยอะแค่ให้นมยังลำบาก ต้องพาไปพบหมอบ่อยๆ”
“ในยุคที่เริ่มต้นโครงการมีโรงพยาบาลที่ผ่าตัดรักษาปากแหว่ง-เพดานโหว่ได้ไม่กี่โรงพยาบาล ไม่ครบทุกจังหวัด นอกจากชาวบ้านจะต้องเดินทางจากหมู่บ้านมาที่ตัวเมืองของจังหวัดแล้ว บางทีต้องส่งตัวข้ามมาอีกจังหวัด นัดแล้วนัดอีกกว่าจะได้รับการผ่าตัด ซึ่งมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาทันตามกำหนดเวลาจำนวนมาก และมันเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของสังคม คือเคยไปร่วมโครงการที่มีแพทย์ต่างประเทศมากันเป็นทีม มันก็เป็นความรู้สึกที่แบบ..เรื่องแบบนี้เราก็ทำเองได้เพียงแต่ว่าระบบการกระจายตัวของศัลยแพทย์ตกแต่งหรือระบบการค้นหาผู้ป่วยของเรายังไม่ดีพอ ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ว่าเราเป็นแพทย์ เราดูแลผู้ป่วยเรื่องนี้แต่ปรากฎว่าเราล้มเหลวในการดูแลผู้ป่วยชาวไทย จนต่างประเทศต้องมาทำบุญอนุเคราะห์สงเคราะห์เรา เพราะฉะนั้นจากโครงการซ่อมเพดานสมานริมฝีปาก (ปีพ.ศ. 2541) ที่คิดจะทำกันปีเดียว เลยเปลี่ยนเป็นโครงการระยะยาวไม่มีจุดสิ้นสุด ชื่อโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น”
“โครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น เป็นโครงการที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ใช้เงินงบประมาณแต่จะใช้เงินบริจาคเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เราผ่าตัดรักษาปีละ 6 จังหวัด โดยติดต่อกับเหล่ากาชาดจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลจังหวัด ให้ช่วยค้นหาผู้ป่วยถึงหมู่บ้าน ลงทะเบียนและจัดรถพามาโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้ทีมแพทย์จากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์เป็นผู้คัดกรองและผ่าตัด เป็น one stop service ตอนแรกเราเลือกจังหวัดที่ไม่มีแพทย์ที่ผ่าตัดด้านนี้เลย มีจำนวนคนไข้จำนวนมาก ส่วนใหญ่จะฐานะยากจน แต่ตอนหลังพบว่าถึงแม้บางจังหวัดจะมีศัลยแพทย์ตกแต่งที่ผ่าตัดได้แต่ก็ยังมีคนไข้ให้ผ่าตัดอีกมาก สาเหตุก็คือแพทย์ผ่าอยู่ในโรงพยาบาล คนไข้ไม่มาหา โครงการของเราเป็นโครงการเชิงรุก ไปค้นหาหมู่บ้านและพาตัวมาผ่าตัด ในแต่ละจังหวัดจะผ่าตัดโดยเฉลี่ย 50 รายต่อครั้ง มีบางจังหวัดเป็นร้อยกว่ารายก็มี ใช้เวลาครั้งละ 1 สัปดาห์”
“จนถึงปีพ.ศ. 2548 มาตรวจสถิติย้อนหลัง พบว่าอายุเฉลี่ยของเด็กที่มาผ่าตัดยังสูงเกินไป ปากแหว่งมาผ่าตอนอายุ 5 ขวบ เด็กโดนล้อจนเป็นปมด้อยไปแล้ว เพดานโหว่มาผ่าตอน 7-8 ขวบ เด็กพูดไม่ชัดไปแล้ว เพราะจริงๆแล้วปากแหว่งควรผ่าตัดตั้งแต่อายุ 3 เดือน เพดานโหว่ควรผ่าตอนอายุ 9 เดือนถึง 1 ขวบครึ่ง ไม่ควรเกินนั้น ปีนั้นเป็นปีครบรอบ 50 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จึงชวนกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาทำโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ลงทะเบียนเด็กแรกคลอดทุกรายที่มีภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่ พออายุครบ 3 เดือน(ปากแหว่ง) 9 เดือน(เพดานโหว่) ก็นำตัวมาผ่าตัด แต่การนำตัวผู้ป่วยมาผ่าตัดจะมีค่าใช้จ่าย สภากาชาดไทยจะหาเงินบริจาคมาจ่ายให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว ผ่าตัดที่โรงพยาบาลไหน สภากาชาดไทยยินดีออกค่าใช้จ่ายค่าเดินทางให้รายละ 1,000 บาท ส่วน สปสช. จะชดเชยค่าผ่าตัดให้โรงพยาบาลอย่างเหมาะสม จึงเกิดเป็นโครงการ “ยิ้มสวยเสียงใส เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 50 พรรษา” ต่อมาคิดว่าจะขยายการรักษาให้ได้เต็มร้อย เนื่องจากเด็กปากแหว่งจะมีแผงฟันที่มีปัญหา ฟันบิดเก มีปัญหาการเคี้ยว ไม่กล้ายิ้ม ไม่กล้าพูด จึงคุยกับสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบว่ามีทันตแพทย์จัดฟันที่รับจัดฟันให้เด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่มีเท่าไหร่ เชื่อไหมครับว่าใน 100 คน มีแค่ 5 คนที่รับจัดให้เด็กปากแหว่งเพราะเขาไม่กล้า มันยาก สมาคมทันตแพทย์จึงใช้เงินส่วนตัวบินไปศึกษาการจัดฟันเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ที่ไต้หวัน และกลับมาถ่ายทอดความรู้และจัดโครงการทันตแพทย์สัญจรร่วมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ไปที่โคราช เดือนละครั้ง ทุกเดือนเป็นเวลา 6 ปี นอกจากนี้เรายังไปเจรจากับสปสช.ให้เด็กปากแหว่งจัดฟันฟรีจนสำเร็จ โดยสภากาชาดไทยสนับสนุนค่าเดินทางไปจัดฟันครั้งละ 500 บาทผ่านเหล่ากาชาดจังหวัด ปัจจุบันจ่ายเงินค่าเดินทางกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ ใหญ่กว่าเงินที่ใช้จ่ายในการออกหน่วยผ่าตัดซะอีก”
“10ปีหลัง เราเพิ่มเงื่อนไขว่าใน 1 ปี ที่เดินทางไปผ่าตัด 6 จังหวัด ต้องมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเราอยากไปให้กำลังใจโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และเป็นขวัญกำลังใจกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ โดยใช้เงินบริจาคทั้งสิ้น เราพบว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขยากยิ่งกว่าจังหวัดอื่น คือคนที่นั่นเดี๋ยวนี้ยากจนและลำบากกว่าตอนก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ สาธารณสุขจะเข้าไปค้นหาตัวผู้ป่วยตามหมู่บ้านก็ต้องระวัดระวังตัว และอัตราการเกิดและอัตราความพิการแต่กำเนิดก็สูงกว่าที่อื่นด้วย นอกจากนี้ด้วยความเชื่อ เมื่อลูกเกิดมาพิการก็เชื่อว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้าไม่ต้องแก้ไข เราก็ต้องไปโน้มน้าวชักชวนถึงบ้าน อย่างที่เรียนให้ทราบว่าโครงการของเราไม่ได้ผ่าแค่ปากแหว่ง-เพดานโหว่ มีความพิการอื่นด้วย เช่น ความพิการทางมือ นิ้วเกิน นิ้วติดกัน มือหงิกงอ จากสาเหตุอะไรก็ตามเรารับรักษา ความพิการเกี่ยวกับแผลเป็นหดรั้งต่างๆทั่วร่างกาย ความพิการบนใบหน้า ความพิการอะไรก็ได้ที่หมอศัลยกรรมตกแต่ง หมอออโธพิดิกส์โดยเฉพาะ hand surgeon พอจะช่วยได้ เวลาไปก็จะมีทีมวิสัญญีแพทย์ ทีมพยาบาลไปด้วย เป็นอาสาสมัครจากที่ต่างๆ ใหม่ๆที่เราไปก็ต้องระมัดระวัง อาสาสมัครบางคนไม่กล้าบอกทางบ้านว่ามาผ่าตัดที่ 3 จังหวัดชายแดน บอกแค่ว่ามาออกหน่วยกับสภากาชาดไทย ไม่อย่างนั้นทางบ้านไม่ยอมให้ไป แต่พอไปหลายๆปีเข้าก็พบว่าไม่ได้อันตรายขนาดเหมือนกับในข่าว ชาวบ้านก็ยังใช้ชีวิตได้ปกติ เพียงแต่ก็ระวังตัวตื่นตัวหน่อย แต่ถ้าจะให้ขลุกอยู่แต่ในบ้าน ชีวิตมันดำเนินต่อไปไม่ได้ เราเอาตามมาตรฐานความปลอดภัยของเขา ชีวิตเขาชีวิตเราก็คงมีค่าไม่ต่างกัน เราก็ทำตัวกลมกลืนกับเขา มันถึงบรรลุวัตถุประสงค์ในการไปเป็นกำลังใจให้เขา อันนี้ก็เป็นเรื่องของการออกหน่วยไปผ่าตัด”