เรื่องการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติเป็นเรื่องของเราทุกคน
“หลังเรียนจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย(ปัจจุบัน คือ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย)ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ก็เข้าบรรจุที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ในตำแหน่งพยาบาลสาธารณภัย ถึงปัจจุบันก็ 24 ปีแล้ว เราทำงานทั้งด้านการแพทย์ ด้านการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ซึ่งจะมีทั้งการเตรียมพร้อมก่อนเกิด ขณะเกิดเหตุการณ์ และการฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ มีการดูแลทั้งด้านสุขภาพและการช่วยเหลืออื่นๆ เพราะ สิ่งสำคัญของพยาบาลสาธารณภัย คือ ต้องทำได้ทุกอย่าง”
“ในสมัยนั้นเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติยังไม่ค่อยได้รับความสนใจ ต้องไปศึกษาจากศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือ ADPC (Asian Disaster Preparedness Center) เริ่มตั้งแต่ยังเป็นคู่มือภาษาอังกฤษ จนปัจจุบันงานเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติของสภากาชาดไทย ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว สามารถพัฒนาจนเป็นคู่มือภาษาไทยสำหรับประชาชน การ์ตูนและแอนิเมชันเตรียมความพร้อมสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นที่ภูมิใจว่าตอนนี้เราพัฒนามาถึงจุดนี้ได้แล้ว ความตั้งใจในการทำงานด้านนี้ เพราะเราอยากให้ทุกคนดูแลตนเองได้ เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นพวกเขาต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเองก่อนที่หน่วยงานต่าง ๆ จะเข้ามา ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯมีการเสริมสร้างศักยภาพความพร้อมรับภัยพิบัติที่หลากหลาย โดยในแต่ละปีจะดูแลชาวบ้านได้ประมาณ 5 ชุมชน และชุมชนติดตามในโครงการการติดตามชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งการไปเยี่ยมเหมือนเป็นการไปกระตุ้น ไปทบทวนการปฐมพยาบาล หรือเรื่องอื่นๆ อย่างน้อยก็ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ”
“ด้วยความที่เป็นพยาบาลสาธารณภัย ต้องเตรียมการทุกอย่างให้ครบ การทำงานจะไม่ค่อยมีปัญหา จะมีก็แต่ปัญหาเฉพาะหน้า ตรงหน้างานมากกว่า และอุปสรรคมักเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ควบคุมไม่ได้ ทำงานที่นี่ไม่เคยเหนื่อย ไม่เคยท้อเลย และมีความสุขกับงานมาก รู้สึกว่าทำงานที่นี่มันสนุกมาก ดีกับเรา และได้ช่วยเหลือสังคม การเตรียมพร้อมรับมือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราภูมิใจที่ชาวบ้านเชื่อใจและให้ความไว้วางใจเรา มีเหตุการณ์อะไรเขาก็จะเล่าให้ฟัง ทุกครั้งที่มีการซ้อมการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ก่อนเกิดภัย ชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือมากันเสมอ ถึงแม้จะเป็นช่วงเย็นหลังเลิกงานที่เหนื่อยล้า เขาก็ยังมากัน ซึ่งเมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นพัฒนาการของชุมชน และเกิดเป็นความผูกพันระหว่างสภากาชาดไทยและชาวบ้านมาเป็นระยะเวลายาวนาน”
“เรื่องการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติเป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเราจะอยู่ประเทศไทย หรือต่างประเทศ อยากฝากให้ทุกคนได้เรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะเอาตัวรอดให้ได้ และยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย”