ทำงานด้วยใจ รักษาคนไข้เหมือนญาติของเรา
“หมอเรียนจบด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2547 เป็นหมอใช้ทุนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และสถานีกาชาด ก่อนจะมาอยู่ที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ในฐานะของการเป็นหมอ หู คอ จมูก ณ ตอนนั้นมีโครงการคืนเสียงสู่โสต โดย ผศ.ดร.นพ.ม.ล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ร่วมกับ นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิหู คอ จมูก ชนบทในขณะนั้น”
“โครงการคืนเสียงสู่โสตเป็นโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำหน้าที่ให้บริการตรวจรักษาทั้งทางยาและการผ่าตัด รวมทั้งการตรวจวัดระดับการได้ยินแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางหูในถิ่นทุรกันดารและมีฐานะยากจน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราจะเลือกพื้นที่ที่ไม่มีหมอหู คอ จมูก หรือมีหมอหู คอ จมูกที่ยังขาดความมั่นใจในการผ่าตัดหู ทำให้คนไข้คั่งค้างจำนวนมาก จากนั้นเราก็จะขนเครื่องมือไปออกหน่วย และทำการผ่าตัดให้คนไข้ที่หน่วย โดยคนไข้ไม่ต้องเดินทางอย่างยากลำบากเพื่อไปรับการรักษา”
“ตามหลักการของการทำงาน ควรทำงานไปด้วยและมีความสุขไปด้วย แล้วความสุขจะหาได้จากที่ไหน อาจจะไม่ใช่ความสุขสบายส่วนตัว แต่ก็ต้องเป็นความสบายใจ ต้องหาอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุข ซึ่งอาชีพชุดขาวแบบนี้ การได้ทานข้าวเที่ยงบ้าง ไม่ได้ทานบ้างนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะหน่วยของสภากาชาดไทย แต่แพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานในทุกโรงพยาบาลต่างก็เจอชีวิตแบบนี้ งานของเราไม่ได้สุขสบาย แต่แรงบันดาลใจของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน คือการได้เห็นความสำเร็จจากการปฏิบัติหน้าที่ ความสำเร็จแรกคือ คนไข้หาย และความสำเร็จที่สองคือ คนไข้พึงพอใจ ถ้าเขาพึงพอใจมาก เราก็มีความสุขมากตามไปด้วย”
“ครั้งหนึ่งหมอเคยตามไปดูอาจารย์ออกหน่วยผ่าตัด เพราะตอนนั้นเรายังผ่าไม่เก่ง อาจารย์สอนหมอทุกคนว่า ‘คนไข้เขารู้ตัวดี เพราะฉะนั้นเวลาผ่าตัดผ่านกล้องแบบนี้ อาจจะเผลอตัวเอาศอกวางบนคนไข้ ซึ่งเราอาจไม่ได้คิดอะไรเพราะเห็นว่ามีผ้าปูอยู่ แต่ถ้าคนไข้เป็นคนไข้ผู้หญิงอย่าวางข้อศอกลงไป เพราะอาจจะไปถูกหน้าอกเขา หรือถ้าจำเป็นต้องวาง หากไม่วางมือจะไม่นิ่ง เราต้องขออนุญาตคนไข้เขาก่อน’ พอผ่าตัดเสร็จ เปิดผ้าออกมา ภาพที่เห็นคือคนไข้นอนร้องไห้ ไหว้อาจารย์หมอด้วยความซาบซึ้ง กล่าวขอบคุณที่ทำให้เขาได้ยินอีกครั้ง เขาดีใจที่ได้ผ่าตัดกับหมอที่ใส่ใจคนไข้ขนาดนี้ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่หมอประทับใจมาก และนำสิ่งที่อาจารย์สอนมาปฏิบัติตามเสมอ”
“ทุกครั้งที่ออกปฏิบัติงาน หรือประชุมกับลูกน้องในฝ่าย หมอจะย้ำให้ทุกคนทำงานด้วยใจ การที่เราจบวิชาชีพนี้มา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ทันตแพทย์ หรือผู้ช่วยทันตแพทย์ ควรจะมีความรู้สึกที่ว่า รักษาคนไข้เหมือนรักษาญาติของเรา และพัฒนาตัวเราเพื่อให้บริการเขาได้อย่างมีมาตรฐาน ทุกคนจะต้องตระหนักไว้เสมอว่าเรามาภายใต้ตรากากบาทแดง ต้องสำรวมกิริยามารยาท ทั้งในและนอกเวลางาน ต้องรักษาภาพลักษณ์ในฐานะคนทำงานของสภากาชาดไทย”
“หมออยากให้คนที่บริจาคให้สภากาชาดไทยสบายใจว่าเงินบริจาคของทุกคนถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ทั้งหมด บุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งพนักงานขับรถที่ไปออกหน่วยกับเรา ตระหนักดีว่าเงินที่เรานำมาใช้ในการปฏิบัติงานมาจากเงินบริจาคของประชาชน เราก็จะพยายามประหยัดในส่วนของการเดินทางและที่พักต่าง ๆ แต่ในส่วนของคนไข้ เราไม่เคยต่ำกว่ามาตรฐาน และจะต้องดีกว่ามาตรฐาน เพราะฉะนั้น หมออยากให้ไว้วางใจในการทำงานของสภากาชาดไทย ว่าเราทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน”