สภากาชาดไทยจัดงาน “วันศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย” ประจำปี 2562 เพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้บริจาคอวัยวะให้สภากาชาดไทยที่ล่วงลับไปแล้ว และมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โดยมี นายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธาน ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ อาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลาถึง 25 ปี โดยมีนโยบายหลักในการส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะให้มากเพียงพอต่อการปลูกถ่ายอวัยวะภายในประเทศ จัดสรรอวัยวะที่ได้รับบริจาคอย่างเป็นกลาง เสมอภาค โดยไม่มีการซื้อขายอวัยวะ และนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคไปใช้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยอวัยวะเสื่อมสภาพ อาทิ หัวใจ ปอด ตับ และไต การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการเพิ่มโอกาสและอัตราการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย ที่เปรียบเสมือนการได้ชีวิตใหม่ “การปลูกถ่ายอวัยวะ” เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่แตกต่างจากการรักษาประเภทอื่น เนื่องจากอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่ายทดแทนอวัยวะเดิมของผู้ป่วย ยังไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ เราต้องเสาะหาอวัยวะเหล่านั้นจากผู้ป่วยที่เสียชีวิต โดยอวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้มาจากผู้บริจาค 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริจาคที่มีชีวิต อวัยวะที่สามารถบริจาคได้คือ ไตและตับ โดยผู้บริจาคกลุ่มนี้ต้องเป็นญาติหรือสามีภรรยาที่อยู่กินกัน เปิดเผยอย่างน้อย 3 ปีของผู้รับอวัยวะเท่านั้น หากผู้รออวัยวะไม่มีญาติที่สามารถบริจาคอวัยวะให้กันได้ เช่น อวัยวะเข้ากันไม่ได้ ผู้บริจาคมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ฯลฯ จึงต้องรออวัยวะจากผู้บริจาคกลุ่มที่สอง คือ ผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งสามารถบริจาคหัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน ให้แก่ผู้อื่นได้ โดยแพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่ามีภาวะสมองตาย ซึ่งเป็นภาวะที่สมองถูกทำลาย จนสูญเสียการทำงานโดยสิ้นเชิงและถาวร ถึงจะกระตุ้นด้วยวิธีใดก็ไม่ตอบสนอง ไม่ไอ จาม หายใจเองไม่ได้ แม้จะใช้เครื่องช่วยหายใจหรือยากระตุ้น ก็ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตได้อีกจึงถือว่าคนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว”
การได้มาซึ่งอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายทดแทนให้แก่ผู้ป่วยนั้น นับเป็นภารกิจที่สำคัญของกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย กับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะมากถึง 6,401 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 585 ราย โดยลงทะเบียนรอรับไตมากที่สุดถึง 6,082 ราย จึงทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนอวัยวะในประเทศไทย
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ จึงได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งนอกจากดำเนินงานด้านการรับบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตายแล้ว ยังจัดกิจกรรมวิชาการและการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาทีมสุขภาพในเขตบริการให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะยังได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมก้าวสู่ยุคใหม่ ของการบริจาคอวัยวะ” เพื่อพัฒนาระบบการบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตาย โดยเชิญผู้บริหารของโรงพยาบาลจำนวน 22 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ ศัลยแพทย์ หัวหน้าพยาบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในงานรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมสัมมนาเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานให้เป็นในทิศทางเดียวกัน และยกระดับการบริจาคอวัยวะให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
ในส่วนของภาคประชาชน ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในความจำเป็น ของการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ โดยการสร้างการรับรู้เผยแพร่ข่าวสารในสื่อต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาอีกด้วย ซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้ทำภารกิจต่าง ๆ มาเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยมีความมุ่งหวังให้ประชาชนในประเทศไทยมีสุขภาพที่ดี กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข
เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ โดยสามารถขอรับแบบฟอร์มใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย 1666 หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.organdonate.in.th
“การบริจาคอวัยวะ” ถือเป็น “ของขวัญเพื่อชีวิต”