
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว “ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่า” ณ ห้องประชุม อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งมั่นพัฒนาวิธีดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร และกำลังจะดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็งควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาผู้ป่วย หนึ่งในโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การพัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์บำบัด ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัด นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้สร้างห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่สามารถผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาบุคลากรและระบบที่มีคุณภาพในด้านการผลิต ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองตามมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) กล่าวว่า TCELS เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ “Mapping การวิจัยและ Roadmap การวิจัยและการให้บริการทางการแพทย์ด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัดในประเทศไทย” และสนับสนุนโครงการวิจัยที่สำคัญทางด้านนี้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรักษาในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำและเสียชีวิต เช่น “โครงการพัฒนาการรักษาโดยเซลล์ Natural killer ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เซลล์นักฆ่า (Natural Killer Cell) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนน้อยของเม็ดเลือดขาวทั้งหมดโดยจะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย โดยทั่วไปเซลล์นักฆ่าจะมีหน้าที่หลักคือการลาดตระเวนและตรวจหาเซลล์แปลกปลอม เซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ เซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์นักฆ่าตรวจสอบพบเซลล์ที่มีความเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อหรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเซลล์มะเร็งนั้น เซลล์นักฆ่าจะทำลายเซลล์ผิดปกติดังกล่าวก่อนที่เซลล์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็ง
จากการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในระดับการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานนั้น พบว่าประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว
โครงการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยได้รับทุนสนับสนุนในระยะเริ่มต้นและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก TCELS เพื่อพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพแก่ของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยร่วมโครงการอยู่ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยทั้ง 5 รายในโครงการนี้ ได้รับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยประสบความสำเร็จในการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค ให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้เซลล์จริงในผู้ป่วย ได้แก่ 1) สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าขึ้นมาได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ในผู้ป่วย 2) เซลล์นักฆ่าที่ได้ไม่มีเซลล์อื่นๆ ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 3) ตัวอย่างทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานการตรวจควบคุมคุณภาพสำหรับเซลล์ที่จะนำไปใช้ในผู้ป่วย ทั้งในด้าน จำนวนเซลล์ สัดส่วนเซลล์มีชีวิต ความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็ง การไม่พบจุลชีพปนเปื้อน และ ไม่พบการปลอมปนของ endotoxin (พิษจากเชื้อแบคทีเรีย)

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ร่วมโครงการทั้ง 5 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำและไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำแต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ โดยการรักษามาตรฐานจะประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ แต่จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกและไม่มีทางเลือกอื่น ๆ ในการรักษา ซึ่งโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเกิน 1 ปีหลังจากที่มีโรคกลับมาเป็นซ้ำนั้นน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย จึงมีการวิจัยและพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้มีการโฆษณาชวนเชื่อ การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และมีการเสนอบริการด้านเซลล์บำบัดในการรักษาโรคต่างๆ ออกมาในสื่อต่างๆ รวมถึง social media อย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อน เกิดความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง รวมถึงมีการเสียทรัพย์สินไปกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และรักษาด้วยสิ่งที่อ้างว่าเป็นเซลล์บำบัด ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องมีการให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติเซลล์บำบัด เพื่อมาควบคุมมาตรฐานการรักษาด้วยเซลล์บำบัด และกำกับมาตรฐานห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเซลล์เพื่อมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงข้อบ่งชี้ในการใช้เซลล์บำบัดเฉพาะในโรคที่มีการรับรองประสิทธิภาพของการรักษา
ข้อควรทราบและพึงระวัง มีดังนี้
- การรักษาด้วยเซลล์บำบัดอาจเกิดผลข้างเคียงจากเซลล์ที่ใส่กลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการปนเปื้อนจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการแพ้อย่างรุนแรงหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง
- เซลล์นักฆ่าไม่สามารถใช้ได้กับมะเร็งทุกชนิด จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในปัจจุบันพบว่าเซลล์นักฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคไม่ค่อยดีในมะเร็งก้อนทุกชนิด ถึงแม้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์เองการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมก็มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรค
- การวิจัยทางคลินิกหลายชิ้นสรุปตรงกันว่าเซลล์นักฆ่าที่ได้จากตัวผู้ป่วยเองมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคต่ำ
- ในปัจจุบันยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในการใช้เซลล์นักฆ่าในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยชะลอวัย ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ หรือแม้แต่การใช้ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งการอวดอ้างดังกล่าวไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับทั้งสิ้น
- การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่านั้นยังไม่ใช่การรักษามาตรฐานของโรคมะเร็งชนิดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามมาตรฐานของโรคนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะพิจารณาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ผู้ป่วยควรที่จะได้รับการรักษาภายใต้โครงการการศึกษาหรือการวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเองเนื่องจาก
– แพทย์ผู้รักษาต้องเป็นแพทย์ทางโลหิตวิทยาที่มีประสบการณ์ด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขผลข้างเคียงของการให้เซลล์ได้ทันท่วงที
– ก่อนการให้เซลล์นักฆ่าแก่ผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ให้เข้าไปใหม่และป้องกันไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรบกวนการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไป
– หลังจากการได้รับเซลล์แล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไปสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ในตัวผู้ป่วย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมสมทบทุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ เพจ CU Cancer Immunotherapy Fund