วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลปิยะเวท และดร.สตีเฟน มิลล์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคโครงการ USAID LINKAGES ประเทศไทยและลาว องค์การแฟมิลี เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (FHI 360) ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการด้านเอชไอวีให้แก่กลุ่มประชากรหลักในโรงพยาบาลเอกชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อสนับสนุนการยุติเอดส์ภายในปี 2573 ณ โรงพยาบาลปิยะเวท
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายจะช่วยให้กลุ่มประชากรหลักซึ่งรวมถึงชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองได้เข้าถึงบริการด้านเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ ครบวงจร บริการที่เป็นมิตร รวดเร็วและราคาย่อมเยาในโรงพยาบาลเอกชน เราทำโครงการนี้ภายใต้สมมุติฐานว่า ประชาชนส่วนหนึ่งที่มีกำลังทรัพย์สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนได้โดยที่มีค่าบริการที่ไม่แตกต่างจากคลีนิคนิรนามมากนักและโรงพยาบาลไม่ขาดทุน ในอนาคตหากโรงพยาบาลปิยะเวทสามารถเป็นหน่วยร่วมบริการด้านเอชไอวีกับสปสช.ได้ เช่น ตรวจเอชไอวีฟรี รับยาต้านฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไข้มารับบริการ ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลของรัฐและคลีนิคนิรนาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หวังว่าจะยุติปัญหาเอดส์ได้
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลปิยะเวทและโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกนั้น ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมการป้องกันและการรักษาเอชไอวี มาปรับใช้กับผู้เข้ารับบริการโดยคำนึงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งความร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ FHI 360 ในครั้งนี้ จะทำให้โรงพยาบาลปิยะเวท ได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการด้านเอชไอวี รวมถึงการจัดบริการตรวจเอชไอวี การจัดบริการยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ และการจัดบริการยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกันกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับบริการจะได้รับบริการตามมาตรฐานสากลและเป็นบริการที่เป็นมิตรแก่กลุ่มประชากรหลักอย่างแน่นอน
ดร.สตีเฟน มิลล์ กล่าวว่า FHI 360 ในฐานะที่เป็นองค์กรที่สนับสนุนนวัตกรรมการให้บริการด้านเอชไอวีโดยกลุ่มประชากรหลัก มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลปิยะเวทเป็นหนึ่งในสถานบริการที่กลุ่มประชากรหลักได้รับบริการการตรวจเอชไอวีนอกเหนือจากการรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน ช่วยเพิ่มทางเลือกของผู้รับบริการที่ไม่สามารถไปรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนได้ FHI 360 จะช่วยสนับสนุนด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ที่เจาะเฉพาะกลุ่มประชากรหลัก และประสานกับ USAID เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการไสู่ภูมิภาคและทั่วโลก
นอกจากนี้ เมลิซา โจนส์ ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุข องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID/RDMA) ได้ร่วมแสดงความยินดีสำหรับพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครับและเอกชน (Public-Private Partnership – PPP) อย่างแท้จริง โดยรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของการจัดบริการที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาคเอเซียและสามารถเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แก่ประเทศต่างๆที่มีสนใจให้สามารถดำเนินได้
ปัจจุบันแม้ว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในภาพรวมของประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพมหานครจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มประชากรหลัก อาทิ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง ยังอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลปิยะเวท และFHI 360 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าและความสำเร็จของการทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งหน่วยงานทั้งสามได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการยุติเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล