วันที่ 19 ธันวาคม 2562 เวลา 08.15 น. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้ม ไม่พรุน” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และกิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้ม และโรคกระดุกพรุนซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ณ ตึก ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรคกระดูกพรุน คือ โรคของกระดูกที่มีความแข็งแกร่งและคุณภาพของกระดูกลดลง เป็นผลให้กระดูกมีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่ายขึ้น ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่มีการกระแทกเบา ๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอ จาม หรือลื่นล้มก็ทำให้กระดูกหักได้ ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา
วิธีการป้องกันการหกล้มมี 3 วิธี คือ
- ป้องกันจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ฝึกการทรงตัว ออกกำลังเพิ่มความเข้มแข็งของกล้ามเนื้อและฝึกเดิน เรื่องความดันโลหิตต่ำซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนท่าเร็ว ๆ หรือยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วง หน้ามืด เวียนศีรษะ แก้ไขปัญหาการมองเห็น โดยเฉพาะโรคต้อกระจกที่มักพบในผู้สูงอายุ แก้ไขปัญหาเท้าผิดรูปหรือแผลเรื้อรังที่เท้า และการใส่รองเท้าที่เหมาะสม
- ป้องกันจากปัจจัยภายนอก โดยการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม มีไฟส่องสว่างเพียงพอ มีราวจับ มีเก้าอี้อาบน้ำ
- การเพิ่มความแข็งแรงและมวลกระดูก โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง รับแสงแดดวันละ 30 นาที การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
การป้องกันโรคกระดูกพรุน สามรถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป ปรึกษาได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 0 2256 4000