ภาวะสังคมผู้สูงอายุ
รู้หรือไม่? โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ประชากรเด็กมีอัตราลดลงจากร้อยละ 30 ในปี2537 เป็นร้อยละ 24.9 ในปี 2545 และร้อยละ 22.4 ในปี 2550 ซึ่งตัวเลขสวนทางกับจำนวนประชากรสูงอายุที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 9.4 และ 10.7 ในปี 2545 และ 2550 ตามลำดับ จากสถานการณ์และแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในประเทศไทย หน่วยงานในหลายภาคส่วนได้เริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญโดยมีการผลักดันกฏหมายประกาศใช้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ ออกมาเพื่อช่วยเหลือและรองรับผู้สูงอายุที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสิ่งที่ต้องมีการจัดการเตรียมระบบด้านสวัสดิการสังคม ระบบบริการ ด้านสุขภาพ ในการรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
ปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ
ปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุจะพบได้บ่อย ทั้งนี้เนื่องจากวัยสูงอายุมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในการเสื่อมถอยในหลายด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น สำหรับปัญหาทางด้านร่างกายที่สามารถพบได้ เช่น
- กลุ่มอาการเมแทบอลิก (Metabolic Syndrome) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน
- ปัญหาระบบประสาท และสมอง สมองจะฝ่อลงตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งแสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น ความจำไม่ดี อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า นิสัยเปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวไม่ดี การทรงตัวไม่ดี หูตึง มองไม่ชัดเจน เป็นต้น
- ปัญหาระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย มีปัญหาฟันหลุดร่วงตามวัย ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ลิ้นรับรสได้น้อยลง จึงเบื่ออาหาร กระเพาะอาหารไม่ค่อยยืดหยุ่น ทำให้อิ่มเร็ว พบปัญหาท้องผูกได้ง่าย
- ปัญหากระดูกและข้อเสื่อม ใช้งานข้อมากเกินไป เช่น ผู้ที่ต้องใช้มือบ่อย ๆ อาจมีภาวะกระดูกบางและการเสื่อมของข้อ
- กลุ่มอาการผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และพบเฉพาะในผู้สูงวัย เช่น การหกล้ม เดินลำบาก ปัสสาวะเล็ดราด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า มวลกล้ามเนื้อพร่อง ฯลฯ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันนี้ มีการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการบริการของผู้สูงอายุ อย่างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจร โดยมีพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นด้วยการบริการจากสหสาขาวิชาชีพและแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพร้อมดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ มีการเปิดให้บริการ 2 คลินิก ได้แก่ คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดีและคลินิกวัยทอง ณ อาคาร ส.ธ. ชั้น 4 สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เบอร์ 02 256 4000 ต่อ 70401-2
ที่มา:
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
กรมกิจการผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย