เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 นายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ ดร. Habibe Millat รองประธานเสี้ยววงเดือนแดงแห่งบังกลาเทศ (Bangladesh Red Crescent Society) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดค่ายหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่โรงเรียน Ukhia Model Government School เมือง Ukhia ชานเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ โดยมีนางสาวพรรณพิมล สุวรรณพงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ร่วมด้วย
สภากาชาดไทยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา จัดโครงการนำหน่วยแพทย์ตรวจรักษาผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจาและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ระหว่างวันที่ 26 – 29 สิงหาคม 2561 โดย ที่จัดตั้งค่ายหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 แห่ง ได้แก่ 1. ตรวจรักษาชาวโรฮีนจาในบริเวณค่ายพักพิงของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ 4 (UNHCR Camp 4) โซน O พื้นที่ Madhrehara และ 2. ตรวจรักษาชาวบังกลาเทศในชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่โรงเรียนรัฐบาลตัวอย่าง (Ukhia Model Government School) ณ แขวงอุคเฮีย เขตคอกซ์บาซาร์
นายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นำคณะแพทย์และพยาบาลจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมจำนวน 13 คน ตรวจรักษาทางด้านอายุรศาสตร์ สูตินารีเวช และกุมารเวช พร้อมทั้งบริการตรวจเลือด วัดความดัน ตรวจคลื่นหัวใจ และจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาด้านสูตินารีเวชและกุมารเวชแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ท้องถิ่นอีกด้วย การดำเนินการในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของสภากาชาดไทยที่ได้การจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้ความช่วยเหลือให้แก่บังกลาเทศด้านสาธารณสุขเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์จากวิกฤตการพลัดถิ่นของชาวโรฮีนจา ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบังกลาเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยตลอดระยะเวลา 4 วัน หน่วยแพทย์สภากาชาดไทยได้ตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 2,564 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ และโรคระบบทางเดินอาหาร
โครงการนี้เป็นโครงการริเริ่มจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาเสี้ยววงเดือนแดงบังกลาเทศ UNHCR และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลบังกลาเทศ รวมถึงบริษัท Square Pharmaceuticals Ltd. และบริษัท Beximco Pharmaceuticals Ltd. ที่ได้บริจาคยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการตรวจรักษาจำนวนมาก พร้อมช่วยจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับหน่วยแพทย์สภากาชาดไทยอีกด้วย
การให้บริการทางด้านการแพทย์ในลักษณะนี้ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจาและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับบังกลาเทศในการป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ตลอดจนยกระดับบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ