สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เยี่ยมชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุ “ปาบึก” พัดถล่มเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการติดตามการให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยในด้านความเข้มแข็งของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติและความรู้สึกของประชาชนได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และการมอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ช่วยผู้ประสบภัย ณ พื้นที่หมู่ 13 และ 14 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ “ชุมชนเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ” กับสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ โดยการดูแลของสถานีกาชาดสิริธร (สถานีกาชาดที่ 12 ทุ่งสง) จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่ 1 – 3 ตำบลแหลมตะลุมพุก หมู่ 12 – 14 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง หมู่ 2, 5 และ 8 ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ หมู่ 5 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชุมชนที่ร่วมโครงการชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติ ทั้ง 10 ชุมชน ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” และได้ดำเนินการอพยพตามแผน ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่มีผู้สูญหาย อย่างไรก็ตาม พายุปาบึกส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 20 หลังคาเรือน เสียหายบางส่วน 803 หลังคาเรือน สาธารณูปโภคเสียหาย ได้แก่ ถนนบางพื้นที่น้ำท่วมสูง บางพื้นที่มีต้นไม้ใหญ่ล้มทับถนนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เสาไฟฟ้าหักโค่นทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญานโทรศัพท์ถูกตัดขาดไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน พื้นที่ทางการเกษตร (สวนยาง สวนปาล์ม สวนส้มโอ สวนมังคุด และทุเรียน) และอุปกรณ์การประมงได้รับความเสียหาย โรงเรียนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนรวมถึงคอมพิวเตอร์เสียหาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เอกสารต่างๆ และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่อยู่ชั้นล่างได้รับความเสียหายทั้งหมด เนื่องจากถูกน้ำท่วมโดยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านการบรรเทาทุกข์
- มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในศูนย์พักพิงและหมู่บ้านประสบภัย ได้แก่ ชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยฯ 6,400 ชุด ชุดทำความสะอาดบ้านเรือน จำนวน 200 ชุด ผ้าห่ม จำนวน 1,323 ผืน มุ้งกันยุง 1,035 หลัง โดยจะทำการมอบชุดเครื่องครัว ชุดเครื่องนอนและชุดทำความสะอาดให้แก่ผู้ประสบภัยครบทั้ง 10 ชุมชน จำนวน 4,476 ชุด
- ประเมินความต้องการในการช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และการส่งเสริมสุขอนามัยของผู้ประสบภัย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบของการขาดแคลนด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยจากเหตุภัยพิบัติ
ด้านการฟื้นฟูผู้ประสบภัย
- จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ณ วัดเกาะนางโดย และโรงเรียนบ้านเกาะนางโดย โดยการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่รวม 15 หน่วยงาน ผู้ร่วมกิจกรรม 772 คน
- จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านน้ำ สุขาภิบาล และการส่งเสริมสุขอนามัย ให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 7 ครั้ง ผู้ร่วมกิจกรรม 3,294 คน
- ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ไม่ได้ร่วมโครงการชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติ
- ประสานกองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อดำเนินการตัดต้นไม้ที่ล้มทับบ้านเรือน